บีเอสเอเผยผลสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 66

07 Jun 2018
แม้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลง แต่องค์กรธุรกิจในไทยยังคงมีความเปราะบางต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์
บีเอสเอเผยผลสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 66

ผลสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ประจำปี 2560 ของบีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ พบอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 66 ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 714 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (22,848 ล้านบาท) ลดลงจากร้อยละ 69ในปี 2558 ในขณะที่อัตราเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อยู่ที่ร้อยละ 57

การลดลงของอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เป็นผลมาจากการหดตัวของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer - PC) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เรื่องภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่องของหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ เหตุการณ์มัลแวร์เรียกค่าไถ่ระดับโลกอย่างWannacry ที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน ทำให้องค์กรธุรกิจเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ซอฟต์แวร์แท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการ และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จากไอดีซี (IDC) ให้ความเห็นว่าการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในองค์กรธุรกิจ ทำให้เกิดความตื่นตัวในการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

มร. ดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ เผยว่า บีเอสเอร่วมกับบริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกอย่างไอดีซี (IDC) ทำการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลก โดยครั้งล่าสุดได้ทำการสำรวจใน 110 ประเทศทั่วโลก พบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิซอฟต์แวร์ หรือการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ อยู่ที่ร้อยละ 37 ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (1.48 ล้านล้านบาท) ลดลงจากร้อยละ 39 ในปี 2558 หากพิจารณาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ฯ อยู่ที่ร้อยละ 57 ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 16,439 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (526,048 ล้านบาท) ลดลงจากร้อยละ 61ในปี 2558

สำหรับในประเทศไทย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อยู่ที่ร้อยละ 66 ในปี 2560 คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 714 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (22,848 ล้านบาท) ลดลงจากร้อยละ 69 ในปี 2558 ตัวเลขในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ในจำนวนคอมพิวเตอร์ 100 เครื่อง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์เถื่อน 66 เครื่อง ทั้งนี้ อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยลดลง โดยในภาพรวมเป็นผลจากการหดตัวของตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างเข้มงวด และการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยจากการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์อย่างต่อเนื่อง

"อัตราการใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ในประเทศไทย ลดลงร้อยละ 3 ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนยังต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังต่อไป และการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังช่วยลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์มักจะมีจุดอ่อนด้านความปลอดภัย ทำให้ง่ายต่อการติดมัลแวร์" นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บีเอสเอ I พันธมิตรซอฟต์แวร์ กล่าว

การสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกประจำปี 2560 ของบีเอสเอ ใช้วิธีคำนวณจำนวนและมูลค่าของซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในกว่า110 ประเทศทั่วโลก และมีการเก็บข้อมูลความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ใช้ซอฟต์แวร์ พนักงานบริษัท และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร จำนวนเกือบ 23,000 คน จากผลการสำรวจและบทวิเคราะห์ พบว่าผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง โดยส่วนใหญ่มีความเห็นว่า หากองค์กรธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง มีโอกาสสูงที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายขององค์กรมีโอกาสถูกจู่โจมจากผู้ประสงค์ร้าย นำมาซึ่งความเสียหายอื่นๆ เช่น สูญเสียข้อมูลสำคัญขององค์กร

"ประเทศไทยกำลังพัฒนาไปสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทำให้มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์มากยิ่งขึ้น องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการการใช้งานซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ขององค์กร เพราะการบริการจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management – SAM) ตลอดจนการอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบรักษาความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ เป็นหนทางหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยองค์กร นอกจากนี้ การจัดการที่ดีด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ ยังช่วยให้องค์กรลดต้นทุนด้านซอฟต์แวร์ และเพิ่มผลกำไรในการประกอบการได้อีกด้วย" มร. ดรุณ ซอว์เนย์ กล่าว

สรุปผลสำรวจที่สำคัญ

  • การใช้ซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิยังมีอยู่มากในวงกว้าง โดยร้อยละ 37 ของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ตัวเลขดังกล่าวลดลงมาเพียง 2% จากปี 2558 สร้างความเสียหายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 46,302 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (1.48 ล้านล้านบาท) ไม่นับรวมความเสียหายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • เจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเห็นว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิมีความเสี่ยงสูงขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยไอดีซี (IDC) ประเมินว่าองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบ 359,000 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ (11.49 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหามัลแวร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์
  • เจ้าหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเห็นว่าการตรวจสอบให้แน่ใจว่าองค์กรใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อลดความเสี่ยงจากมัลแวร์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลขององค์กรถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตลอดจนความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยอื่นๆ ของระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย
  • การบริหารจัดการการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องเหมาะสมคือตัวช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ โดยนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรแล้ว โดยไอดีซี (IDC) ประเมินว่าบริษัทที่มีขั้นตอนการปฎิบัติที่ชัดเจนเพื่อบริหารจัดการซอฟต์แวร์ จะสามารถเพิ่มผลกำไรได้มากถึง 11%
  • จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า องค์กรสามารถประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ในแต่ละปี ได้มากถึง 30% หากมีวิธีการบริหารจัดการซอฟต์แวร์และการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ที่ดี

"ไม่เพียงแต่ในองค์กรธุรกิจเท่านั้น ภาครัฐถือเป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์รายใหญ่ หากทุกหน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิถูกต้องและครบถ้วน จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ภาคเอกชน และประชาชนโดยทั่วไป ที่สำคัญไปกว่านั้น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้อง ถือเป็นวิธีขั้นพื้นฐานในการป้องกันภัยไซเบอร์ เพราะซอฟต์แวร์ที่ไม่มีไลเซ่นส์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์ และการถูกจู่โจมจากอาชญากรไซเบอร์ นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ควบคุมข้อมูลสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน หน่วยงานภาครัฐจึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่มีไลเซ่นส์ถูกต้องตามกฎหมาย และมีการบริหารจัดการสินทรัพย์เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งรวมถึงซอฟต์แวร์ ให้ได้มาตรฐานด้วย" นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทยของบีเอสเอ กล่าว

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงสถิติของแต่ละประเทศ ได้ที่ www.bsa.org/globalstudy.

เกี่ยวกับบีเอสเอ

บีเอสเอ │พันธมิตรซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) คือ องค์กรชั้นนำที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก โดยทำงานร่วมกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ และมีบทบาทในเวทีสากล สมาชิกของบีเอสเอคือบริษัทชั้นนำระดับโลก ที่สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์ที่จุดประกายการเติบโตของเศรษฐกิจ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน บีเอสเอมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และมีหน่วยปฏิบัติการในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก บีเอสเอเป็นผู้นำในการรณรงค์ให้องค์กรต่างๆ ใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสนับสนุนนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมการเติบโตของเทคโนโลยี และขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล

ติดตามบีเอสเอได้ที่ at @BSAnews

บีเอสเอเผยผลสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 66 บีเอสเอเผยผลสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 66