อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า "โครงการ U.REKA มีพันธกิจสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาของไทยเข้าด้วยกัน เพื่อให้ภาคการศึกษามีโอกาสพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยีขั้นสูงที่ตอบโจทย์ได้ตรงความต้องการของภาคธุรกิจ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้ จากการจัดอันดับล่าสุดของ IMD World Competitiveness Centre ในปี 2017 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 27 ของโลก และความสามารถทางด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 41 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งล่าสุดในปี 2018 ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 30 ของโลก หากเรายังไม่สามารถเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ให้เร็วทันกับกระแสโลก ไทยมีโอกาสจะตกไปอยู่อันดับท้าย ๆ และอาจกลายเป็นประเทศไม่มีส่วนสำคัญอะไรต่อเศรษฐกิจโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีนับจากนี้"
"จากการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการได้รับความสนใจเกินคาดจากทีมนักพัฒนาถึง 63 ทีมจากสถาบันการศึกษาทั้งไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสถาบันชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน และมี 32 ทีมได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Ideation Bootcamp และในปีแรกนี้ เราได้กำหนดโจทย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ใน 3 อุตสาหกรรมคือ ค้าปลีก ท่องเที่ยว และบริการทางการเงิน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยทีมที่นำเสนอไอเดียและผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ช่วง Incubation จะได้รับเงินทุนให้เปล่าทีมละ 200,000 บาทเพื่อเป็นทุนตั้งต้นในการพัฒนาตลอดระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนในการทำวิจัยต่ออีก 3 – 6 ล้านบาท และหากผลิตภัณฑ์หรือบริการเหล่านั้นสามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้จริง จะได้รับเงินทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจสูงสุด 10 ล้านบาท"
เดแกน อโลนี (Dagan Alony) ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจและการค้า สถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่องเส้นทางแห่งการก้าวสู่การเป็นประเทศศูนย์กลางสตาร์ทอัพของโลกของอิสราเอล ว่าแรงผลักดันที่ทำให้อิสราเอลต้องพัฒนาความเป็นผู้นำทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมเกิดจากข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งความเป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็ก ประชากรน้อย และส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากถิ่นอื่น มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย การทำธุรกิจจึงมองแค่ตลาดในประเทศไม่ได้ แต่ต้องมองไกลถึงตลาดโลก ปัจจุบัน อิสราเอลมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ สูงเป็นอันดับสามของโลก ใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเป็นสัดส่วนถึง 4.3% ของจีดีพีของประเทศ สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่นเดียวกับสัดส่วนของวิศวกรต่อจำนวนประชากรที่สูงถึง 135 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าสหรัฐฯ ที่มีเพียง 75 คนต่อประชากร 100,000 คนถึงเกือบเท่าตัว และมีการลงทุนแบบเวนเจอร์แคปิตอลเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 0.40% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรมของอิสราเอลเกิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินมานานกว่า 40 ปี ซึ่งเป็นการผสานความร่วมระหว่างทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมและการศึกษา ระหว่างรัฐและหน่วยงานเอกชน และนโยบายของภาครัฐเอง
ในช่วงเสวนาพิเศษ ในหัวข้อผลกระทบจากเทคโนโลยีพลิกโฉมโลก (Disruptive Technology) ในธุรกิจต่าง ๆ ผู้บริหารองค์กรชั้นนำของไทยจากอุตสาหกรรมค้าปลีก ท่องเที่ยว และการเงิน มาร่วมเผยมุมมองการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดและคงความเป็นผู้นำ เริ่มจาก เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดิ เอ็มโพเรี่ยม กรุ๊ป เห็นว่าอีคอมเมอร์ซคือเทรนด์ใหม่ แต่ยังไม่ได้มาทำลายธุรกิจรีเทลในประเทศไทยเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ หรือยุโรป เพราะลูกค้ายังต้องการประสบการณ์ในการไปจับจ่ายซื้อสินค้าด้วยตัวเอง และองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่สามารถทดแทนได้ หน้าที่ของร้านค้าหรือศูนย์การค้าคือต้องสามารถทำหน้าที่เป็นเพื่อนกับลูกค้าได้ทุกวัน ตลอดเวลา (Personalization) ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะ (Customization) การขยายช่องทางสู่โมบายเพื่อเข้าถึงลูกค้าจากทั่วโลก (Digitization) และสร้างกิจกรรมพบปะสังสรรค์ (Socialization) เช่น อีเวนต์หรือปาร์ตี้ที่สนุกสนาน
ผู้บริหารจากธุรกิจท่องเที่ยว วัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์ จำกัด เสริมว่า ในวันนี้ บริการจองที่พักออนไลน์รายใหญ่ booking.com มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงกว่าเว็บไซต์ของเครือโรงแรมชั้นนำของโลก 10 แห่งรวมกันเสียอีก จึงเห็นได้ชัดว่าธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวได้เข้าไปอยู่บนออนไลน์แพล็ตฟอร์มแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้า และเครื่องมือใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากดาต้าเกี่ยวกับลูกค้าที่มีมหาศาลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างความพึงพอใจใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มาใช้ในการบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าในโรงแรมและอาคารต่าง ๆ
ด้านมุมมองจากตัวแทนอุตสาหกรรมบริการด้านการเงิน อรพงศ์ เทียนเงิน กล่าวว่า วันนี้ คู่แข่งของธนาคารไม่ใช่เพียงธนาคารด้วยกันเองอีกแล้ว แต่ยังหมายรวมไปถึงผู้เล่นรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีล้ำยุคและเงินทุนมหาศาลอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ Tencent หรือแม้แต่ Grab ซึ่งกำลังจะให้บริการสินเชื่อสำหรับคนขับแท็กซี่ และ LINE ที่กำลังเปิดบริการรับแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลและบริการทางการเงิน เป็นสัญญาณเตือนที่ธนาคารต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวขนานใหญ่เพื่อให้ทันกับการแข่งขันบนสนามใหม่ ๆ
ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ ยังได้นำเสนอข้อมูลและภาพรวมเกี่ยวกับ Deep Tech สาขาสำคัญที่กำลังจะพลิกโฉมโลก เริ่มจาก Cloud Computing ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจในยุคนี้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับทรัพย์สินด้านไอที อย่างเซิร์ฟเวอร์ที่มีราคาแพง และช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรได้มากมายมหาศาลโดยที่ยังให้ขีดความสามารถด้านปริมาณข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด เพื่อจะได้มุ่งใช้เงินลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก และยังเป็นเทคโนโลยีที่เข้าเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลองค์กร ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากมีระบบที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลสามารถเก็บรักษาไว้ที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ของเจ้าของธุรกิจ
ส่วนเทคโนโลยี AI ในวันนี้ ก็เรียกได้ว่าพัฒนาไปถึงจุดที่เทียบเคียงได้กับความสามารถของมนุษย์แล้ว โดยในปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคำพูด (Speech Recognition) และสามารถสร้างภาพจากคำพูดได้ (Language to Image Systhesis) และความสามารถในการแปลภาษาจากอังกฤษเป็นจีน และจีนเป็นอังกฤษ และระบบ AI มีการนำไปใช้ประโยชน์จริงแล้วในหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้โดรนที่ควบคุมด้วย AI เพื่อตรวจสอบจุดที่มีปัญหาของสายไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ภูมิประเทศห่างไกลซึ่งยากลำบากในการเข้าถึงของมนุษย์ ใช้ในการตรวจสอบสินค้าบนชั้นวางในร้านค้าว่าจัดวางได้ถูกต้องตามประเภทหรือไม่ และใช้ในการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร และส่วนประกอบของเครื่องบินในศูนย์ซ่อมบำรุง เพื่อประเมินแนวทางการซ่อมบำรุงก่อนที่จะเกิดปัญหา
ภายในงาน U.REKA Open House & Bootcamp นี้ ภารกิจที่ทั้ง 32 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการของ ทั้ง 3 วัน คือ การคิดนวัตกรรมชั้นสูงใหม่ ๆ ที่จะแก้ปํญหาให้กับ 3 ธุรกิจหลัก โดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมี 11 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ช่วง Incubation เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบ่มเพาะความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในมิติของธุรกิจจากการสนับสนุนต่าง ๆ จากพันธมิตรโครงการ U.REKA
เกี่ยวกับ U.REKA
โครงการ U.REKA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) จนกระทั่งพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาประเทศด้านระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน
พันธมิตรโครงการ U.REKA ประกอบด้วย ภาคธุรกิจ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้านกฎหมาย ได้แก่ Baker & McKenzie ภาคการศึกษาได้แก่ Knowledge Exchange (KX) และคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.u-reka.co/
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit