การจัดกิจกรรมครั้งนี้นอกจากให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักเรียนกว่า 200 คน แล้วยังร่วมเดินรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าที่ถูกต้อง พร้อมแจกคู่มือการทำบุญไม่ทารุณสัตว์ ให้กับประชาชนในชุมชนพื้นที่ได้ตระหนักรู้ เข้าใจและให้ความร่วมมือสนับสนุนกันทุกภาคส่วนทั้งบ้าน วัด โรงเรียน อันเป็นการช่วยลดปัญหาการทารุณสัตว์อย่างยั่งยืนต่อไปดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) เปิดเผยว่า กว่า 24 ปี ที่สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญต่างๆ เช่น โครงการผลักดัน พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โครงการบ้านอุปถัมภ์ สัตว์จรจัดกว่า 6,000 ชีวิตจากบ้านอุปถัมภ์ 26 แห่งทั่วภูมิภาคของประเทศ ที่สมาคมฯ ดูแลทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค เพื่อให้สัตว์จรจัด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการรักสัตว์ในโรงเรียน ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการปลูกฝังให้เยาวชนมีความรักและเมตตาต่อสัตว์ จึงได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหนังสือเสริมประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิภาพและป้องกันการทารุณสัตว์ โดยจัดพิมพ์และมอบให้กับโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง โครงการพัฒนาเครือข่าย จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร ในการช่วยสอดส่องดูแลและช่วยลดปัญหาการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น กิจกรรมลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กิจกรรมเครือข่ายจิตอาสาสวัสดิภาพสัตว์ กิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาและวิธีใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณสัตว์ฯ กิจกรรมในด้านอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นการจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูวาฬและโลมา การเปิดตัวภาพยนตร์สั้น "ปล่อยนก บุญ หรือ บาป?" ให้เกิดค่านิยมทำบุญไม่ทารุณสัตว์ และภาพยนตร์สั้น "รักไม่ปล่อย" รณรงค์ให้เลี้ยงสัตว์โดยรับผิดชอบไม่นำมาปล่อยและสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นกับสังคม เป็นต้น
ในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2561นี้ สมาคมฯ ได้จัดกิจกรรม "วิสาขบูชาโลก ทำบุญไม่ทารุณสัตว์" มุ่งเน้นให้คนในสังคมให้เกิดค่านิยมทำบุญไม่ทารุณสัตว์ เปลี่ยนแนวความคิดและพฤติกรรมของคนไทย ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการทำบุญที่ถูกต้อง และยุติการจับนกเพื่อมาปล่อย ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องการปล่อยสัตว์จะได้บุญและเป็นมงคลแก่ชีวิต ซึ่งการทำบุญรูปแบบใดก็ตามควรทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ไม่สร้างความเดือดร้อนตัวเองและเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ในการจับสัตว์มาเพื่อเป็นตัวแทนของการทำบุญสะเดาะเคราะห์ ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานและอาจเป็นการพรากชีวิตอีกหลายชีวิต ควรคิดอย่างรอบคอบก่อนจะตกเป็นเหยื่อของการทำบุญที่อาจจะได้ "บาป" มากกว่า "บุญ" นอกจากสัตว์ที่ถูกจับมามักจะไม่รอด และมีความเสี่ยงสูงกับการถูกจับมาขายซ้ำใหม่ นกที่นำมาปล่อยนั้นเกือบทั้งหมดเป็นนกที่ถูกจับมาจากธรรมชาติ และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง นอกจากจะไม่ได้บุญแล้วยังเป็นการทำผิดกฎหมายด้วย
ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้ประสานความร่วมมือไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์สั้น "ปล่อยนก บุญ หรือบาป?" โดยร่วมงานประชุมสัมมนาขับเคลื่อนงานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ณ วัดยานนาวา โดยมอบโปสเตอร์รณรงค์ และเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นฯ ให้กับพระสังฆาธิการกว่า 400 รูป ทั่วประเทศ และจะจัดส่งแผ่นดีวีดีดังกล่าวไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ โดยสมาคมฯ มีแผนการดำเนินงานจะจัดทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit