นายแพทย์ประพนธ์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่ผ่านมา จะเห็นว่าการแก้ปัญหาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการเมื่อเกิดโรคแล้ว และการปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมายโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนก็ทำได้ยากมาก เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมากมายอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน และยากที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะทำงานสำเร็จได้โดยลำพัง ซึ่งตามแนวคิดของการป้องกันแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ ให้ความสำคัญกับการปรับแก้เหตุปัจจัยของพฤติกรรมเสี่ยง และพฤติกรรมการใช้บริการสุขภาพและสังคม ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีต่างภาคส่วน ชุมชนและประชาคม ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวาระนโยบายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มุ่งบูรณาการภารกิจของหน่วยงานต่างภาคส่วน ดูแลให้ประชาชนในพื้นมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภาคส่วนสาธารณสุขมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่างภาคส่วนและชุมชน เข้ามาเป็นภาคีร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา
โดยกระทรวงสาธารณสุข มีแผนงานที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายแผนงาน มาตรการ และรูปแบบบริการป้องกันควบคุมโรค หลายรูปแบบที่ถูกกำหนด ได้ถ่ายทอดไปสู่ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ มีเป้าหมายเพื่อการจัดการลดโรคไม่ติดต่อสำคัญตามเป้าหมาย แต่การดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ พบว่ายังคงมีความหลากหลายในเรื่องของรูปแบบ โดยเฉพาะบริบทของการให้บริการ ซึ่งมีความแตกต่าง และหลายแห่งเกิดนวัตกรรมดี ๆ จากกระบวนการพัฒนา สามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ที่สนใจนำไปใช้ได้
ด้านนายแพทย์ดนัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และยังพบว่าโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก็มีความรุนแรง ถือเป็นภัยคุกคามต่อวัยทำงานอย่างยิ่ง จึงมีความจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะโรคไตเรื้อรัง (CKD) ในปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย 2 แสนคน และพบผู้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งค่าใช่จ่ายโดยเฉลี่ยในการบำบัดทดแทนไตประมาณ 200,000 บาทต่อคนต่อปี และโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มเกิดภาวะแทรกซ้อนโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น ภาระโรคดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั้งในครอบครัวและประเทศสูงมาก