นักวิชาการ มธ. จี้ภาครัฐ ควบคุม-ติดตาม การใช้ '3 วัตถุอันตราย’ ในภาคการเกษตร หวั่นกรณี “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท. สอบเข้มทุกพื้นที่

04 Jun 2018
นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกำหนดกรอบหรือวางข้อบังคับการใช้สารเคมีอันตรายอย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ใช้สารอันตรายต้องมีใบอนุญาต เพื่อสามารถจำกัดกลุ่มผู้ใช้ และสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารอันตราย มีการควบคุมการใช้งานสารอันตรายตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อม กำหนดคณะติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าตรวจสอบ ชี้วัดถึงความอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกได้มีมาตรการห้ามใช้สารเคมีอันตราย "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต" อย่างถาวรมากว่า 10 ปี พร้อมกันนี้ ยังหวั่นกรณี "ปุ๋ยปลอม" ซ้ำเติมเกษตรกร หลังพบเกษตรกรในอำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ใช้ปุ๋ยเคมีหลายชนิดในการกำจัดศัตรูพืชมากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยได้
นักวิชาการ มธ. จี้ภาครัฐ ควบคุม-ติดตาม การใช้ '3 วัตถุอันตราย’ ในภาคการเกษตร หวั่นกรณี “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท. สอบเข้มทุกพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช และการจัดการเกษตรอินทรีย์ กล่าวเสริมว่า ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูก ควรให้ความตระหนักและพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างปัญหาสุขภาพผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม และความสะดวกรวดเร็วในการกำจัดวัชพืช จากกรณีที่มีมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ประกอบด้วย "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต" แต่ให้จำกัดการใช้แทน ซึ่งสารเคมีดังกล่าวเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในแวดวงเกษตรกรไทย และนิยมใช้ในการกำจัดวัชพืช เนื่องจากมีราคาที่ไม่สูงมากและเห็นผลเร็ว แต่ขณะเดียวกันกลับส่งผลเสียขั้นรุนแรง ทั้งต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมโดยรอบในระยะยาว ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลก มีมาตรการห้ามใช้สารเคมีดังกล่าวเป็นการถาวรมากว่า 10 ปี รวมถึงมีการใช้สารชนิดอื่นเข้ามาทดแทน เนื่องจากคุณภาพชีวิตของประชากรและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทางภาครัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จากการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พบว่าเกษตรในหลายพื้นที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้สารในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งควรใช้ในปริมาณที่ฉลากแนะนำ โดยบางรายใช้ปริมาณเกินกว่าที่ฉลากกำหนด และส่งผลตามมา โดยหนึ่งในกรณีที่เห็นได้ชัดเจนคือ การตรวจพบสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของเกษตรกรจังหวัดยโสธร จำนวน81 รายจากทั้งหมด 82 ราย ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้ากำหนดกรอบหรือวางข้อบังคับการใช้สารเคมีอย่างชัดเจน อาทิ กำหนดให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ใช้สารอันตรายต้องมีใบอนุญาต เพื่อสามารถจำกัดกลุ่มผู้ใช้ และสามารถให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารอันตราย ทั้งอัตราการใช้ ความถี่ของการใช้ การแต่งกายขณะใช้สารเคมี และวิธีการจัดการในกรณีได้รับพิษจากสารเคมี รวมทั้งมีการควบคุมการใช้งานสารอันตรายตามขนาดพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมกำหนดคณะติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าตรวจสอบ ชี้วัดถึงความอันตรายต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบแบบรัดกุม ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำเข้าสารอันตราย พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโซเฟต เป็นจำนวนกว่า 44,501 ตัน 3,700 ตัน และ 59,872 ตัน ตามลำดับ (ที่มา: กรมวิชาการเกษตร, 2560) ซึ่งสามารถสะท้อนถึงปัญหาที่ทั้งเกษตรกรไทยและภาครัฐ ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของการใช้สารเคมีอันตรายได้อย่างชัดเจน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต อนุรักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้เชี่ยวชาญด้านสารเคมีในภาคการเกษตร กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ ยังมีกรณีของการใช้ "ปุ๋ยปลอม" ในการกำจัดศัตรูพืช-วัชพืชในแปลงเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการเพ่งเล็งหรือหรือตรวจสอบจากภาครัฐเท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบสารพิษ จากกรมวิชาการเกษตร ที่มีจำนวนไม่เพียงพอต่อพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ โดยมีกรณีศึกษาซึ่งพบว่าเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีการใช้สารเคมีหลายชนิด มากกว่า 2 เท่าของค่ามาตรฐานที่ฉลากกำหนด เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยที่ซื้อมาได้ จึงจำเป็นต้องผสมร่วมกับปุ๋ยเคมีชนิดอื่นในการฉีดพ่น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ฉีดพ่น ที่ตรวจพบสารเคมีตกค้างในเลือดกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด (ที่มา: นายอิทธิพล ดวงตาคำ. (2556). ปริมาณสารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสในนาข้าวและผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งกรณีดังกล่าว หากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างครบวงจร จะสามารถเยียวยาและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยไม่ให้ถูกหลอกลวง จากการใช้ปุ๋ยปลอมและประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รองศาตราจารย์ ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร สะท้อนถึงปัญหาด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และการเกษตร ที่ภาคการศึกษาสามารถเป็นหนึ่งในตัวแปรในการพัฒนาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ผ่านการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนการปลูกฝังแนวคิดต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาคการเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจประเทศ โดยคณะฯ ได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ เพื่อปั้นผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเกษตร ที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านการจัดการเกษตร รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ควบคู่ไปกับการมีผลผลิตเกรดพรีเมี่ยมในอนาคต อาทิ "นวัตกรรมย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว" (หรือไบโอออร์ก้า-พลัส) ชีวภัณฑ์บำรุงดินโดยไม่ทิ้งสารพิษตกค้าง "แอปฯออร์แกนิค" (Organic Ledger) แอปฯ ตรวจสอบคุณภาพผลผลิตย้อนหลัง นับตั้งแต่เริ่มปลูก เพียงสแกนคิวอาร์โค้ด 1 ครั้ง ฯลฯ

นอกจากนี้ คณะฯ ยังมีหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถช่วยประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมวางแผนแก้ไขได้อย่างชาญฉลาด โดยการบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning: PBL)ด้วยการลงพื้นที่จริงเพื่อระดมความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ สู่การหาข้อสรุปร่วมกันอย่างชัดเจน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊คแฟนเพจ ScienceThammasat

นักวิชาการ มธ. จี้ภาครัฐ ควบคุม-ติดตาม การใช้ '3 วัตถุอันตราย’ ในภาคการเกษตร หวั่นกรณี “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท. สอบเข้มทุกพื้นที่ นักวิชาการ มธ. จี้ภาครัฐ ควบคุม-ติดตาม การใช้ '3 วัตถุอันตราย’ ในภาคการเกษตร หวั่นกรณี “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท. สอบเข้มทุกพื้นที่ นักวิชาการ มธ. จี้ภาครัฐ ควบคุม-ติดตาม การใช้ '3 วัตถุอันตราย’ ในภาคการเกษตร หวั่นกรณี “ปุ๋ยปลอม” ซ้ำเติมเกษตรกร วอนรัฐส่ง จนท. สอบเข้มทุกพื้นที่