นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ประกอบกับประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 4 – 12 มิถุนายน 2561 อิทธิพลจากดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสาน 61 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ภาคกลาง 18 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สระแก้ว นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกและตกหนักบางพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล โดยปรับปรุงแผนการเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ จัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยเฉพาะเขตชุมชน เส้นทางคมนาคมสายหลัก ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเชื่อมโยงเส้นทางไหลของน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำป้องกันน้ำท่วม
สำหรับการเผชิญเหตุเมื่อเกิดอุทกภัย ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ รวมถึงศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์กลางระดมสรรพกำลัง และทรัพยากร อำนวยการ ประสานการปฏิบัติด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงวางระบบการติดต่อสื่อสารหลัก – รอง ให้ใช้งานได้ตลอดเวลา หากสถานการณ์ขยายวงกว้างให้แบ่งพื้นที่ กำหนดภารกิจ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน พร้อมประสานหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้าน สาธารณภัยในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ส่วนการบรรเทาทุกข์หลังเกิดภัย ได้เตรียมจัดเตรียมชุดปฏิบัติการดูแลด้านการดำรงชีพที่ครอบคลุมทุกมิติ และเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit