โครงการ “U.REKA” เผยรายชื่อ 11 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ Incubation ที่มีนวัตกรรม Deep Tech ใหม่ ตอบโจทย์ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

15 Jun 2018
เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการ U.REKA ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย The Knowledge Exchange of Innovation (KX) สถาบันอุดมศึกษา และองค์กรเอกชนในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำมากมาย ที่จัดโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกๆ ด้าน ที่ชักชวนนักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้ามารวมตัวคิดค้นนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) และพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดได้จริง เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยล่าสุดทางโครงการได้ประกาศรายชื่อ 11 ทีมสุดท้ายที่ฝ่าทุกด่านการคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยไอเดียที่สดใหม่ น่าสนใจ และพร้อมต่อยอดการพัฒนาในหลากหลายธุรกิจให้ก้าวหน้าขึ้นไปอย่างไม่หยุดยั้ง
โครงการ “U.REKA” เผยรายชื่อ 11 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ Incubation ที่มีนวัตกรรม Deep Tech ใหม่ ตอบโจทย์ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นผู้เข้าร่วมโครงการจากหลากหลายด้านรวมตัวกันมาสมัครเข้าร่วมโครงการ U.REKA มากถึง 63 ทีม จากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ และมี 32 ทีมได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Ideation Bootcamp เป็นเวลา 3 วัน เพื่อรับโจทย์ในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะแก้ปัญหาให้กับ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ การเงิน การท่องเที่ยว และการค้าปลีก โดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งหลังจากการคัดเลือกที่เข้มข้นตลอด 3 วัน เราได้ประกาศรายชื่อ 11 ทีมสุดท้ายที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ช่วง Incubation ของโครงการ โดยแต่ละทีมจะได้รับเงินทุนตั้งต้นจำนวน 200,000 บาทเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วง 3 เดือนของ Incubation ซึ่งทุกทีมมาพร้อมกับไอเดียเริ่มต้นที่ดี หากนวัตกรรมที่พวกเขาช่วยกันคิดค้นขึ้นได้รับการพัฒนาจนได้นำออกมาใช้จริง เรามั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยให้ภาคธุรกิจต่างๆ พัฒนาไปอย่างรุดหน้า ทั้งยังเป็นการสร้างการเติบโตและการพัฒนาให้กับประเทศไทยในภาพรวมอีกด้วย"

11 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ Incubation ในโครงการ U.REKA ได้แก่

AIM Global Innovation กับ "เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อนผู้สูงอายุ" ที่พัฒนาขึ้นเพื่อฝึกความคิดและความจำของผู้สูงวัย (Cognitive Training) พร้อมสามารถเรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ และตอบสนองทางอารมณ์ได้ด้วยเทคโนโลยี AI ช่วยลดอาการสมองเสื่อม พร้อมมีระบบเฝ้าระวังให้ลูกหลานสามารถติดตามผู้สูงอายุได้อีกด้วย

Easy Rice กับ "เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าวอัตโนมัติ" ที่จะนำอุตสาหกรรมข้าวไทยสู่ดิจิทัลผ่านเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการตรวจสอบคุณภาพข้าว โดยใช้ Big Data และ AI ในการแยกลักษณะจำเพาะของเมล็ดข้าว InThai กับ "ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ภาษาไทยตามความต้องการขององค์กร" ซึ่งวิเคราะห์และประมวลภาษาโดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อใช้วิเคราะห์ภาษาไทยโดยตรง เป็นประโยชน์ทั้งสำหรับองค์กรต่าง ๆ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ภาษาไทยไปใช้

Kadyai กับ "แพลตฟอร์มต้านการขาดทุนของเกษตรกร" ซึ่งใช้เทคโนโลยีด้าน Internet of Things, Big Data Analytic และ AI เป็นตัวช่วยเกษตรกรในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งด้านการเพาะปลูกและการตลาด และช่วยให้ผู้รับซื้อผลผลิตและผู้บริโภคติดต่อเกษตรกรได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลงแต่คุณภาพดีขึ้น

Perception กับ "นวัตกรรมฉายภาพเสมือนจริงตอบทุกโจทย์ธุรกิจ" อุปกรณ์แบบใหม่ที่ฉายรูปภาพเสมือนบนจอคอมพิวเตอร์และแว่นตาแบบใหม่มีขนาดเล็กใช้งานสะดวกคล้ายกับการใส่แว่นสายตาทั่วไป สามารถแสดงภาพสามมิติที่ผู้ใช้สามารถมองดูวัตถุเหล่านั้นได้จากหลายด้าน เสมือนมีวัตถุลอยอยู่ตรงหน้าจริง ๆ

QuTE กับ "นวัตกรรมควอนตัมคอมพิวเตอร์" ที่สุดแห่งความก้าวหน้าของระบบประมวลผลข้อมูล ซึ่งทีม QuTE มุ่งหวังจะพัฒนาความรู้เกี่ยวกับกระบวนการประมวลผลข้อมูลเชิงควอนตัมโดยการศึกษาข้อมูล ทำการทดลองและวิจัย เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านดังกล่าวออกไปในวงกว้างโดยไม่แสวงหากำไร

TinyEpicBrains กับ "VideoQR: QR Code ในวิดีโอรูปแบบใหม่ที่ไม่ปรากฏบนหน้าจอ" นวัตกรรมการสแกนเพื่อเข้าถึงข้อมูลจากวิดีโอโดยตรงโดยไม่ต้องถูกกำจัดพื้นที่เพื่อใช้แสดง QR code ซึ่งช่วยลดต้นทุนการซื้อสื่อโฆษณา สร้างความแปลกใหม่ให้กับอุตสาหกรรม และเพิ่มความสามารถในการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคโดยตรงTrueEye กับ "แอพพลิเคชั่นช่วยวินิจฉัยโรคเบื้องต้นจากภาพถ่ายดวงตา" เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้นผ่านการถ่ายภาพดวงตาของผู้ป่วย ก่อนนำข้อมูลไปประมวลผลผ่านการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลที่มี โดยใช้เทคโนโลยี AI และ Internet of Things เป็นตัวช่วย ใช้ได้กับบุคคลทั่วไป ผู้ป่วย และผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรัง

EATLAB กับ "เทคโนโลยีวัดความสุขของผู้บริโภคเพื่อผลักดันอุตสาหกรรมอาหารไทย" โดยเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยี Big Data และ AI บนโต๊ะอาหารอัจฉริยะในการบันทึกพฤติกรรมผู้บริโภคระหว่างการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อวิเคราะห์ความพึงพอใจและคาดการณ์ยอดขายล่วงหน้าพร้อมคำนวณปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อยอดขาย

Xplorer กับ "แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคด้วย AI และ AR" เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการจับจ่ายสินค้า ด้วยนวัตกรรม AI ร่วมกับเทคโนโลยี AR เพื่อให้ผู้ขายได้ข้อมูลผู้บริโภคที่ผ่านการวิเคราะห์ในเชิงลึกพร้อมนำทางผู้บริโภคไปยังหน้าร้านที่ขายสินค้านั้น ๆ ส่งผลดีทั้งต่อความรู้สึกพึงพอใจและประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้า

พอดีคำ.AI กับ "จูนใจ" (TuneJai) ระบบ AI เพื่อดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าครบวงจรรายแรกของไทย โดยสามารถดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าครบวงจรด้วย AI ร่วมกับศาสตร์ด้านจิตวิทยา ผ่านการสนทนาโต้ตอบอัตโนมัติ (Chatbot) เพื่อการคัดกรองและประเมินสภาวะทางจิตใจ ปรับมุมมองความคิดและอารมณ์ ไปจนถึงการพูดคุยเพื่อการบำบัดกับนักจิตวิทยา

โครงการ U.REKA แบ่งได้เป็น 3 ระยะโดยเริ่มจาก ระยะที่ 1 Ideation Bootcamp และ Incubation การสำรวจโอกาสและกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive Technology) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การค้าปลีก การเงินและการบริการ และอื่นๆ โดยฟูมฟักความเป็นไปได้ของไอเดียหรือโซลูชั่นเพิ่มเติมในมิติของเทคโนโลยีและธุรกิจเพื่อพัฒนาความคิดเบื้องต้นให้สมบูรณ์แบบเป็นเวลา 3 เดือน โดยในระยะนี้ U.REKA ได้คัดเลือกทีมที่สมัครเข้ามา 63 ทีมจนเหลือทีมที่ผ่านเข้ารอบ Incubation จำนวน 11 ทีมที่ได้รับมอบเงินทุนตั้งต้นจำนวน 200,000 บาทไปพัฒนาและต่อยอดไอเดีย

ระยะที่ 2 R&D ระยะเวลาของการวิจัยและพัฒนาสินค้าจริงในระดับเริ่มภายในเวลา 8-36 เดือน เพื่อให้ทีมได้ใช้เวลาศึกษาพัฒนาและทดลองโครงการของตนเอง เพื่อสร้างโมเดลทางธุรกิจและการตลาดที่ชัดเจน สามารถพัฒนาสินค้าหรือบริการที่ใช้ได้จริงในระดับเริ่มต้น รวมทั้งดำเนินการจดสิทธิบัตร โดยได้รับการสนับสนุนด้านที่ปรึกษาและเงินทุนวิจัยเพื่อพัฒนาตามความก้าวหน้า (progressive funding) จำนวน 3-6 ล้านบาท

และระยะที่ 3 Acceleration เป็นการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจริงโดยการออกแบบสินค้าเพื่อการผลิตในปริมาณมาก ก่อนส่งออกสู่ตลาด และมีการระบุช่องทางการจัดจำหน่ายกับกลุ่มลูกค้าและคู่ธุรกิจ โดยในระยะนี้ สตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบจะได้รับการสนับสนุนและบ่มเพาะในด้านต่างๆ เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้แต่ละทีมยังมีสิทธิ์ได้รับข้อเสนอเงินลงทุนสูงสุดถึง 10 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดโครงการ

เกี่ยวกับ U.REKA

โครงการ U.REKA เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) จนกระทั่งพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อนำออกสู่ตลาดได้ อีกทั้งโครงการนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาประเทศด้านระบบนิเวศทางนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน

พันธมิตรโครงการ U.REKA ประกอบด้วยภาคธุรกิจ ได้แก่ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ด้านเทคโนโลยี ได้แก่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ด้านกฎหมาย ได้แก่ Baker & McKenzie ภาคการศึกษา ได้แก่ Knowledge Exchange (KX) และคณะวิศวกรรมศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.u-reka.co/

HTML::image(