สธ.-กรมวิทย์ฯจับมือเครือข่ายพัฒนาจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการแพทย์แม่นยำ

15 Jun 2018
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ องค์กรวิจัยชั้นนำ และตัวแทนจากภาคเอกชน ร่วมกันระดมสมองเพื่อร่างแนวทางนโยบายการแพทย์แม่นยำ พัฒนาบริการทางการแพทย์ที่ลงลึกระดับยีน ช่วยให้การวินิจฉัย ป้องกัน และรักษามีความแม่นยำมากขึ้น เพิ่มโอกาสการรักษาหาย และยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุขของประเทศวันนี้ (14 มิถุนายน 2561) ที่ห้องประชุมกมลทิพย์ 1 โรงแรมเดอะสุโกศล ศ. คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการแพทย์แม่นยำ ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2562-2566 โดยมีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นเจ้าภาพ และมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ องค์การภาครัฐ และเอกชน เพื่อระดมสมองในการผลักดันนโยบายด้านการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) เป็นการใช้นวัตกรรมที่ทันสมัย นำเอาข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ที่ลงลึกระดับยีน มาช่วยพัฒนาให้เกิดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแนวใหม่ ที่ช่วยเปลี่ยนจากการรักษามาเป็นการป้องกันโรค ทำให้คนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเข้าถึงนวัตกรรมทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
สธ.-กรมวิทย์ฯจับมือเครือข่ายพัฒนาจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการแพทย์แม่นยำ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยมีการนำข้อมูลพันธุกรรมมาใช้ในทางการแพทย์ ทำให้เกิดการแพทย์แม่นยำ ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วย โดยประยุกต์ใช้ข้อมูลด้านพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต ที่จำเพาะต่อผู้ป่วยแต่ละคน มาประกอบในการวินิจฉัยและเลือกการรักษาที่ตรงจุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รวมทั้งยังนำ

องค์ความรู้นี้ไปช่วยในการป้องกันโรคด้วย การเตรียมความพร้อมสำหรับประเทศไทยที่จะศึกษาและนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ จึงมีความจำเป็น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย แพทยสภา และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการแพทย์แม่นยำ ระยะที่ 1 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวทางการแพทย์แม่นยำในประเทศ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศึกษาข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ในประชากรขนาดใหญ่ ดำเนินการแล้วในประเทศผู้นำด้านการแพทย์หลายประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ โครงการดังกล่าว ได้ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่แม่นยำ และส่งเสริมการวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้ข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย ไปเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆในการผลักดันแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการแพทย์แม่นยำภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 การประชุมในวันนี้ นับเป็นการต่อยอดเพื่อกำหนดแนวนโยบายของประเทศไปสู่การแพทย์แม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้การรักษาโรคมีความจำเพาะกับผู้ป่วยแต่ละคนมากขึ้น ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับพันธุกรรมของตน และช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาหาย นอกจากนั้น การศึกษาข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์ขนาดใหญ่ ยังช่วยในการวิจัยเพื่อหาความเสี่ยงของประชากรต่อโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาของประเทศ เช่น โรคเบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงการวินิจฉัยและการป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแพทย์แม่นยำจะเป็นจุดเปลี่ยนความคิดจากการรักษาสู่การป้องกัน ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แม่นยำระดับโลกภายใน 5 ปี