หลังจากบริษัทพิจารณาให้สามารถเข้าร่วมโครงการฝากเลี้ยงหมูขุนแล้ว ในปี 2556 ทรงวุฒิจึงสร้าง "สุวิทย์ฟาร์ม" ที่ต.แก่งโดม อ.สว่างวีรวงษ์ จ.อุบลราชธานี เลี้ยงหมูขุนจำนวน 3,600 ตัว ในโรงเรือน 6 หลัง ที่เป็นระบบการเลี้ยงแบบฟาร์มปิด เลี้ยงในโรงเรือนอีแวป พร้อมสร้างระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊สที่สามารถปั่นกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในฟาร์ม โดยตอนแรกเขาจ้างให้คนงานดูแลฟาร์มเนื่องจากตนเองยังคงทำงานประจำ และมีทีมงานของซีพีเอฟที่เข้ามาคอยช่วยเหลือดูแล มีสัตวแพทย์และสัตวบาลมาถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการเลี้ยงก็อยู่ในเกณฑ์ดีสามารถผ่อนชำระเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ตลอดและยังมีเงินเหลือใช้จ่ายและเก็บออมดังที่เคยเป็น กระทั่งเวลาล่วงเลยมากว่า 1 ปี การเลี้ยงหมูที่เป็นอาชีพเสริมในตอนแรกประสบความสำเร็จอย่างดี เขาจึงคิดว่าหากสามารถทำผลการเลี้ยงให้ดีขึ้น หมูมีอัตราแลกเนื้อดี การเจริญเติบโตของหมูที่ดีขึ้น ก็น่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทำให้ทรงวุฒิตัดสินใจลาออกจากบัญชีฟาร์ม ทิ้งเงินเดือน 35,000 บาท หันหลังให้เมืองกรุง เพื่อกลับไปบริหารงานฟาร์มด้วยตัวเอง
"หลายคนถามว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ คำตอบนั้นง่ายมากคือ ผมยังคงอยู่กับซีพีเอฟซึ่งเป็นบริษัทที่มั่นคง เราไม่มีความเสี่ยงทั้งเรื่องของต้นทุนการเลี้ยง และไม่ต้องเสี่ยงกับตลาดที่ผันผวน โดยเฉพาะในภาวะราคาที่ลดต่ำลงจนวิกฤติอย่างในปัจจุบันนี้ก็ตาม เพราะมีบริษัททำหน้าที่เป็นตลาดรองรับผลผลิตให้ทั้งหมด ถ้าวันนี้ผมเลี้ยงหมูอิสระก็คงมีภาระหนักเพราะตลาดหมูที่มีจำกัดและราคาก็ซบเซา การที่ผมอยู่ในโครงการสิ่งที่ต้องทำคือการทำผลผลิตให้ดีที่สุด มีการเลี้ยงตามมาตรฐาน สามารถป้องกันโรคได้อย่างที่สัตวแพทย์แนะนำ ก็จะทำให้มีอัตราเสียหายต่ำ เพียงเท่านี้ก็ยั่งยืนแล้ว" ทรงวุฒิบอก
อดีตหนุ่มบัญชีที่ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มตัว บอกว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเป็นเกษตรกรก็เพราะคิดว่าอาชีพนี้สร้างความมั่นคงให้กับตัวเองได้ กระทั่งในปี 2559 ที่ซีพีเอฟได้ปรับปรุงสัญญาคอนแทร็คฟาร์มมิ่งที่ใหม่ให้มีความทันสมัยตามหลักสากลของ UNIDROIT (The International Institute for the Unification of Private Law) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก เพื่อให้สัญญามีความเป็นระบบมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงผลตอบแทนการเลี้ยงใหม่ จากการให้ความสำคัญกับเกษตรกรในฐานะ "พันธมิตรธุรกิจ" ที่จะเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ยิ่งทำให้ทรงวุฒิมองเห็นภาพอนาคตของตนเองได้ชัดขึ้น
"ผมมั่นใจว่าเป็นการตัดสินใจเลือกทำธุรกิจกับบริษัทที่ถูกต้อง อาชีพเลี้ยงหมูกับซีพีเอฟช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับครอบครัวของผม ทำให้มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือน ที่สำคัญยังได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวได้อยู่กับภรรยาและลูก ในอนาคตหากมีการขยายโครงการก็อยากจะเพิ่มการเลี้ยงหมูอีก 6 หลัง และจะทำให้อาชีพนี้กลายเป็นมรดกให้กับลูกต่อไป" ทรงวุฒิ บอกถึงแผนในอนาคตอย่างภูมิใจ
ทรงวุฒิเป็นหนึ่งในตัวอย่างของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และพยายามพัฒนาอาชีพการเลี้ยงหมูของตนเองอย่างต่อเนื่อง และใส่ใจในทุกรายละเอียดเพื่อความสำเร็จในอาชีพ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit