พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดปฏิบัติการ "โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน โดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ" ท่ามกลางพี่น้องประชาชนกว่า 12,000 คน และนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พร้อมคณะผู้บริหารกองทุนฯ ที่มารอต้อนรับโดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยเมื่อปี 2559 รัฐบาลได้จัดโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ ภายในวงเงินงบประมาณ 35,000 ล้านบาท สำหรับให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จัดทำโครงการเพื่อนำไปลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ขยายโอกาสทางการตลาด แก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชน กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งมีกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองได้รับการพิจารณาอนุมัติโครงการกว่า 66,000 กองทุน วงเงินงบประมาณกว่า 33,000 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ดำเนินการภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวทางประชารัฐ สนับสนุนงบประมาณกองทุนละไม่เกิน 200,000 บาท
สำหรับในปี 2561 รัฐบาล ได้สนับสนุนงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองผ่านโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืนโดยศาสตร์พระราชาตามแนวทางประชารัฐ วงเงินงบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละไม่เกิน 300,000 บาท เพื่อต่อยอดโครงการเดิมหรือสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชน โดยเฉพาะการดำเนินโครงการที่รวมกันหลายกองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการให้โอกาสประชาชนบริหารจัดการและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนด้วยทรัพยากร ภูมิปัญญา และการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน
"รัฐบาล สนับสนุนการประกอบอาชีพ การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการพัฒนา อย่างยั่งยืนโดยการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนตามแนวทาง "ประชารัฐ" และนำกรอบแนวทางการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน 10 เรื่อง มาพิจารณาประกอบการดำเนินโครงการ โดยเน้นให้ทุกโครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ต้องผ่านเวทีประชาคมให้สมาชิกได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ โปร่งใส และตรวจสอบได้
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ก็คือ 1.ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 2.ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาของหมู่บ้าน และชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยศาสตร์พระราชา 3.เพิ่มศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนในการเป็นกลไกพัฒนาและสนับสนุนการประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน 4.ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจและการลงทุนตามโมเดล "ประเทศไทย 4.0" ที่ใช้ความหลากหลายทางทรัพยากรและภูมิปัญญา ที่มีอยู่ให้เกิดคุณค่าและประโยชน์สูงสุดนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมใหม่ 5.เสริมสร้างและสนับสนุนต่อยอดการดำเนินงานโครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตามโครงการ เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก โครงการเพิ่มศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้มีการพัฒนา และกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 6.ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกในการบริหารงบประมาณดำเนินกิจกรรมร่วมกันตามความต้องการของชุมชน โดยยึดหลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรวจสอบได้ 7.เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะ ในส่วนที่เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ การจัดสวัสดิการ และการส่งเสริมการประกอบอาชีพเพื่อยกระดับรายได้ ของคนในชุมชน และ 8.ให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีพลัง มีเครือข่ายสนับสนุน สอดคล้องกับแนวทางไทยนิยมยั่งยืน" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเชื่อมั่นว่า การที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ ความเจริญได้นั้น รากฐานที่สำคัญอยู่ที่พี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ หากพี่น้องประชาชนมีความกินดี อยู่ดี มีความสุข มีรายได้ และมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง สามารถบริหารจัดการเงินให้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนาอย่างร่วมมือร่วมใจด้วยแล้ว จะสามารถทำให้หมู่บ้าน ชุมชน และสังคมสามารถพึ่งตนเองและ มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และที่สำคัญความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจาก ทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ร่วมกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญอย่างมั่นคง ด้วยความสามัคคี ปรองดอง ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และนำไปสู่ความร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองของประเทศให้มีความก้าวหน้าเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยทุกคน
ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านฯ มีทั้งสิ้น 79,595 กองทุน สมาชิกประมาณ 13 ล้านคน สามารถยกระดับ ขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 2,560 แห่ง มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 3 แสนล้านบาท จากเงินจัดสรรจากรัฐประมาณ 2 แสนล้านบาท สำหรับรัฐบาลนี้ได้จัดเงินสินเชื่อจากโครงการและมาตรการสำคัญ เช่น โครงการสนับสนุนและพัฒนากองทุนหมู่บ้าน 4 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ ระดับหมู่บ้าน 6 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสินรวมทั้งได้จัดสรรเงินให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐ ในปี 2559 และปี 2560 เป็นเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งปรากฏว่าได้เกิดโครงการประชารัฐ โดยกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ประมาณ 120,000 โครงการ มีเงินทุนหมุนเวียน กว่า 40,000 ล้านบาท โดยได้กำไรเป็นผลตอบแทนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะเตรียมรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการตามแนวทางประชารัฐเพิ่มเติมในปี 2561 นี้อีก 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่า การดำเนินโครงการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12 ล้านครัวเรือน ดังเช่นการดำเนินงานในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit