เรืออากาศโท นพ.กีรติกร ว่องไววาณิชย์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยิน ถือเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยที่สุดในวัยทำงาน(อายุประมาณ 30 - 40 ปี) รวมทั้งยังเป็นโรคที่มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิตอย่างรุนแรง อาทิเช่น อาจทำให้ต้องหยุดงาน หยุดเรียน ประมาณการณ์ว่าในประเทศไทย มีผู้ป่วยด้วยโรคไมเกรนมากถึง 12 ล้านคน และผู้หญิงเป็นไมเกรนมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า อันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศ เชื่อว่าปัจจัยของพันธุกรรมมีส่วนทำให้ระบบประสาทมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติร่วมกับปัจจัยจากภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม ฮอร์โมน การพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงความเครียด ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบไมเกรนขึ้นได้ อาการปวดศีรษะไมเกรน จะพบความผิดปกติของสมองหลายส่วน สมองส่วนที่เรียกว่า "ไฮโปธาลามัส" (Hypothalamus) เป็นส่วนที่เริ่มทำงานผิดปกติก่อน ซึ่งสมองส่วนนี้จะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติ ควบคุมความอยากอาหาร การนอน-การตื่น อุณหภูมิร่างกาย รวมทั้งฮอร์โมนในร่างกาย ในระยะถัดมาจะเกิดการทำงานผิดปกติที่ก้านสมอง (Brain stem) โดยก้านสมองจะส่งสัญญาณความปวดไปยังเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 นี้ จะปล่อยสารการอักเสบที่ส่วนปลายของเส้นประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกปวดขึ้นที่บริเวณศีรษะและใบหน้า การรับความรู้สึกของบริเวณศีรษะและใบหน้าจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้เรารับรู้การเต้นของเส้นเลือด เป็นลักษณะการปวดแบบ"ตุ๊บๆ"
คนที่เป็นไมเกรน อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทอื่นๆ ร่วมได้ เช่น การเห็นภาพที่ผิดปกติ เป็นเส้นซิกแซกหรือจุด เห็นแสงระยิบระยับ มีภาพมืด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดก่อนที่จะมีอาการปวดศีรษะไมเกรน บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลีย หาวนอน คิดอะไรไม่ค่อยออกนำมาก่อนที่จะเกิดอาการปวดศีรษะได้ถึง 3 วัน นอกเหนือจากนี้ ในช่วงที่มีอาการปวดศีรษะ มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากเห็นแสงจ้า ไม่อยากได้ยินเสียงดัง รวมถึง อาจเกิดอาการเวียนศีรษะร่วมด้วยได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง อาการเวียนศีรษะพบร่วมกับอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการเตือน (Migraine with aura) จะพบอาการเวียนศีรษะมากกว่ากลุ่มคนที่เป็นไมเกรนแบบไม่อาการเตือนถึง 2 เท่า ในบางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะรุนแรงเป็นลักษณะของบ้านหมุนร่วมกับอาการคลื่นไส้-อาเจียน บางรายเป็นไม่รุนแรงอาจจะมีความรู้สึกโคลงเคลงเหมือนนั่งอยู่ในเรือ รู้สึกการทรงตัวไม่ดี ไม่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะหรือร่างกายเร็วๆ ได้
นอกจากนี้ โรคปวดศีรษะไมเกรนยังมีความสัมพันธ์กับโรคเส้นเลือดสมอง ข้อมูลจากรายงานในวารสารทางการแพทย์ "Brain" ที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม 2017 พบว่าคนที่เป็นไมเกรนชนิดมีอาการเตือน (Migraine with aura) จะเกิดเส้นเลือดสมองตีบได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 27% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดสมองตีบสูงสุด รวมถึงคนไข้ไมเกรนชนิดมีอาการเตือนที่ใช้ยาคุมกำเนิดมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) เป็นส่วนประกอบจะพบความเสี่ยงของเส้นเลือดสมองตีบเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาคุมกำเนิด ยังพบว่าคนที่เป็นไมเกรนมีความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดสมองแตกมากกว่าคนทั่วไปถึง 46% ดังนั้นจึงต้องมีการดูแลรักษาเรื่องปวดศีรษะไมเกรนให้ดี การใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งยาป้องกันอย่างถูกต้องและเหมาะสม เนื่องจากยาในกลุ่มแก้ปวดบางชนิด สามารถเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเส้นเลือดสมองและหัวใจได้ การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดตีบและแตกตั้งแต่อายุน้อยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากโรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.1719
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit