วันนี้เรามาถึงจุดสูงสุดของการค้าแบบไร้พรมแดนแล้วหรือยัง ?

14 Jun 2018
โดย....พอล โดโนแวน
วันนี้เรามาถึงจุดสูงสุดของการค้าแบบไร้พรมแดนแล้วหรือยัง ?

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากยูบีเอส

ตลอดช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา การค้าข้ามเขตแดนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างหันมาทำการค้ากับคู่ค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ตัวเลขที่แท้จริงของการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบถึงร้อยละ 30 ของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยชี้วัดความเป็นโลกาภิวัตน์นี้ได้เพิ่มทวีคูณขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 (ค.ศ.1990) แต่อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการค้าข้ามเขตแดนเริ่มชะลอตัวลงในช่วงไม่กี่ปีให้หลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่รวมสินค้าด้านบริการ อย่างเช่น การบริหารความมั่งคั่ง เป็นต้น) ที่หยุดชะงักลง จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในวันนี้โลกของเรามาถึงจุดสูงสุดของการค้าแล้วหรือยัง

การค้าข้ามเขตแดนเติบโตขึ้นได้อย่างไร

ความซับซ้อนที่เพิ่มสูงขึ้นในกรรมวิธีการผลิตสินค้าเป็นปัจจัยที่ทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ในช่วงพ.ศ. 2513 – 2522 (ทศวรรษที่ 1970) การผลิตสินค้าต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องของภายในประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะนำเข้าเฉพาะสิ่งที่ไม่สามารถผลิตได้เท่านั้น อย่างเช่น ในประเทศที่ไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ ก็จำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน (หรือหันไปใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบอื่น) ถ้าไม่นับเรื่องน้ำมันและสินค้าพื้นฐานอื่นๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ประเทศส่วนใหญ่มีกำลังที่จะผลิตสินค้านั้นๆ ขึ้นมาเอง

อย่างไรก็ตามในช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้มีการหยุดผลิตสินค้าขั้นพื้นฐาน และหันมานำเข้าสินค้าต่างๆนอกเหนือจากสินค้าขั้นพื้นฐานมากขึ้น อาทิ อัลบั้มซีดีเพลง หากมีคนต้องการซื้อซีดีเพลงสักแผ่นจากศิลปินต่างชาติ ก็อาจจะถือว่าเป็นการนำเข้าดนตรีจากต่างประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ซีดีอาจมาจากหลากหลายประเทศ อย่างเช่น ประเทศที่ 2 เป็นผู้ผลิตแผ่นซีดี ในขณะที่ผู้ผลิตกล่องซีดีอยู่ในประเทศที่ 3 โดยนำเข้าพลาสติกจากอีกประเทศคือ ประเทศที่ 4 และส่งต่อให้ประเทศที่ 5 เป็นผู้ตีพิมพ์ปกอัลบัมซีดี โดยใช้กระดาษและหมึกพิมพ์จากประเทศอื่น ซึ่งเป็นประเทศที่ 6 และ 7 และสุดท้ายนำมาบรรจุรวมเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จในประเทศที่ 8 จากนั้นลูกค้าถึงจะได้รับซีดีอัลบัมนี้ไปครอบครอง

เหตุการ์ณนี้จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมรถยนต์ที่ "ผลิตในสหรัฐอเมริกา" ไม่ได้ "ผลิตในสหรัฐอเมริกา" จริงๆ อีกต่อไป ทั้งนี้ กว่าหนึ่งในสามของรถยนต์ที่ส่งออกจากสหรัฐอเมริกา เป็นรถที่มีสายการผลิตมาจากประเทศอื่น

ตัวเลขของการค้าไร้พรมแดนจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีการขนส่งข้ามพรมแดนสากล (International Trade) ในขณะที่ตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (Global GDP) จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อนับจากการซื้อขายครั้งสุดท้ายเท่านั้น ดังนั้น หากมีการผลิตสินค้าและส่งต่อในรูปแบบข้ามพรมแดนหลายครั้งก่อนกลายมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป อัตราส่วนของการค้าข้ามเขตแดนก็จะเพิ่มสูงขึ้นในผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก (Global GDP)

เหตุใดการค้าข้ามเขตแดนอาจเปลี่ยนแปรไป

ปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการค้าข้ามเขตแดนอาจถึงจุดสูงสุดแล้ว และอัตราส่วนอาจเริ่มถดถอยลดลง ซึ่งอาจนำมาซึ่งจุดสูงสุดของการค้าข้ามเขตแดนจริงๆ อย่างน้อยก็ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเราอาจเหมารวมง่ายๆ ว่าทั้งหมดนี่เป็นเพราะแนวคิดปกป้องการค้า แต่จริงๆ แล้ว มันมีอะไรมากกว่านั้น

เหตุผลหลักที่ซัพพลายเชนมีความซับซ้อนมากขึ้นคือ เรื่องของต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งการผลิตในบางประเทศนั้นถูกกว่าการผลิตในประเทศอื่นๆ แม้ว่าค่าขนส่งชิ้นส่วนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของต้นทุน แต่หากเทียบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงมากๆ แล้ว นั่นก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า

ในวันนี้ เหตุผลเรื่องต้นทุนอาจไม่ชัดเจนเท่าในอดีต เพราะบางประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนการจ้างแรงงานจากต่างประเทศ นอกจากนี้ การย้ายหน่วยการผลิตมาไว้ใกล้ๆ กับลูกค้าก็มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือ สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของตลาด แทนที่จะต้องรอเป็นเวลาหลายสัปดาห์เพื่อให้สินค้าส่งมาจากอีกซีกโลกหนึ่ง บริษัทสามารถส่งของได้ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน นอกจากนี้ การมีแหล่งผลิตใกล้กับลูกค้ายังลดความเสี่ยงในการผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของลูกค้า (ของเสียถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน) หรือน้อยเกินไป (เสียโอกาสที่จะสร้างเม็ดเงิน) การผลิตใกล้ๆ จะช่วยลดต้นทุนในด้านอื่นๆ ลงด้วย เช่น เรื่องประกัน ยิ่งระยะทางส่งสินค้าสำเร็จสั้นลงเท่าไร ค่าประกันสินค้าก็จะยิ่งต่ำลงเท่านั้น

การปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล หรือการดิจิไทซ์ (Digitization) สามารถตัดซัพพลายเชนให้สั้นลงมากกว่าเดิม ซึ่งเราอาจสามารถตัดขั้นตอนการผลิตสินค้าบางตัวออกจากห่วงโซ่นั้นๆได้ ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบการฟังเพลงที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซีดีกลายเป็นอดีตไปแล้ว เพราะวันนี้เราสามารถดาวน์โหลดหรือสตรีมเพลงมาฟังได้โดยตรง แต่ทั้งนี้ การค้าก็ยังคงอยู่ แต่ศิลปินเริ่มหันมาขายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคอีกต่อไป แต่มันคือการบริการ เพราะเหตุนี้ ซัพพลายเชนในเรื่องดนตรีจึงหดหายลงอย่างน่าใจหาย

อย่างไรก็ตามเมื่อห่วงโซ่อุปทานสั้นลง การค้าขายสินค้าก็จะยิ่งง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เราสามารถเห็นสัญญาณบ่งชี้บางอย่างที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากการส่งออกชิ้นส่วนสินค้าไปต่างแดนเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง หรือแม้แต่ถดถอยลงในบางรายการนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการมีซัพพลายเชนที่สั้นลง มีการค้าขายที่ไม่ซับซ้อนอาจเป็นเหตุผลที่บอกว่า เรามาถึงจุดสูงสุดของการค้าไร้พรมแดนแล้ว

หากเรามาถึงจุดสูงสุดของการค้าจริงๆ มีหลายสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นต้องคำนึงถึง ได้แก่

  • ประเทศที่เติบโตขึ้นจากผลพวงของซัพพลายเชนในหลายๆ ช่วงติดต่อกัน จำเป็นต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างความเติบโต
  • ความต้องการบริการขนส่งจะเปลี่ยนแปลงไป สินค้าจะเดินทางสั้นลง วัตถุดิบอาจจะถูกส่งไปยังดินแดนใหม่ๆ หรือจะไม่มีการขนส่งเกิดขึ้นเลย (อย่างเช่นเพลง)
  • การมีแหล่งผลิตสินค้าอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้นจะช่วยลดต้นทุนด้านสินค้าคงคลัง ในกรณีที่เศรษฐกิจย่ำแย่ การมีสินค้าคงคลังมากจะยิ่งทำให้บริษัทแย่ลง หากเราผลิตสินค้าใกล้ตลาด (ลูกค้า) เราจะสามารถลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของวงจรเศรษฐกิจลงได้
  • ในอนาคต งานบริการและการขายไอเดียต่างๆจะเป็นช่องทางหลักที่ช่วยส่งเสริมการขายที่สำคัญมากกว่าการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปแบบทั่วไป

จุดสูงสุดของการค้าประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้สร้างงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากมาย จุดสูงสุดของการค้าเป็นเรื่องของการปรับกระบวนการทำงานให้เข้าสู่ระบบดิจิทัล หรือการใช้หุ่นยนต์ อย่างไรก็ดี จุดสูงสุดของการค้าอาจหมายถึง ภายในอีกสิบห้าปีข้างหน้าหรือราวๆ นั้น ลัทธิคุ้มครองการค้าอาจมีบทบาทน้อยลงเมื่อเทียบกับในปัจจุบัน สงครามทางการค้าจะกลายเป็นเรื่องในอดีต และอนาคตของการค้าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป