ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 อยู่ที่ 862 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 ทั้งนี้ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1มิ.ย. 61 เพิ่มสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 13.8% หรือ 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่รัสเซียเร่งผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 61 ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณตามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ซึ่ง รัสเซียจะผลิตน้ำมันที่ระดับ 10.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Forcados ของไนจีเรีย เดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 56,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 226,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหล และบริษัทที่ปรึกษา GlobalData ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงราวไตรมาสละ 10 % ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2560 และระบุว่าอุปทานน้ำมันดิบอาจลดลงอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปลายปีนี้ เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งการผลิตและส่งออก รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรห้ามสถาบันการเงินซื้อพันธบัตรของเวเนซุเอลาบั่นทอนสถานะทางการเงินของประเทศ ให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้ ที่นักวิเคราะห์คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.0% หลังตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ด้าน JP Morgan ปรับลดประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี พ.ศ. 2561 ลง 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brentจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-76.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง บริษัท Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวันประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณ 500,000 บาร์เรล ส่งมอบ 25-29 ก.ค. 61 และโรงกลั่น Deer Park (กำลังการกลั่น 325,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ กลับมาเดินเครื่องหน่วย Fluidic Catalytic Cracking(กำลังการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 9 มิ.ย. 61 หลังปิดซ่อมแซมท่อรั่วตั้งแต่ วันที่ 4 มิ.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 239 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และสำนักข่าว Xinhuaรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในจีน เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 % อยู่ที่ 77.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันเบนซิน ในจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่ง โดย China Association of Automobile Manufacturers ของจีนรายงานยอดขายรถยนต์ เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.16 % และ Platts คาดการณ์ปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซีย เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.0 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดการถือศีลอด (ปริมาณนำเข้าเดือน ก.ค. 61 มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล เพราะสิ้นสุดช่วงเทศกาลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง) ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 530,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.00 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83.0-87.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.05% มากขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุมทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มขึ้น ลดความต้องการใช้น้ำมันดีเซล ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 116.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 480,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.71 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Pertaminaของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.25 % ปริมาณรวม 1.4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 25 มิ.ย.- 1 ก.ค. 61 และ สำนักข่าว Xinhua รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในจีน เดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 11 % อยู่ที่ 67.8 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 87.0-91.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล