ประเด็นแรกที่คาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้นในการพบกันครั้งนี้ คือ การยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด แม้ว่าสงครามเกาหลีจะสิ้นสุดไปนานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 แต่เป็นการยุติโดยสนธิสัญญาหยุดยิง ไม่ใช่สนธิสัญญาสันติภาพ เพราะฉะนั้นในเทคนิคถือว่า สงครามเกาหลียังอยู่ ถ้าหากสามารถทำสนธิสัญญาสันติภาพได้สำเร็จ ก็นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกาหลีเหนือได้รับการยอมรับจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ ซึ่งสนธิสัญญาสันติภาพนี้ได้มีการพูดกันแล้วตั้งแต่ครั้งที่ผู้นำเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้พบกันเมื่อปลายเดือนเมษายน และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยเชิญ สหรัฐอเมริกากับจีนมาร่วมด้วย หากแต่เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกายังไม่เคยพบกันเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนเพราะฉะนั้นถ้าสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือสามารถพูดคุยกันได้ เส้นทางที่จะนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสันติภาพก็น่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง คือ การให้สหรัฐอเมริกาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ เพราะขณะนี้สหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกัน แต่เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการทูตทั้งกับสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ทำให้เกาหลีใต้ได้เปรียบเกาหลีเหนือในด้านการทูตอยู่มาก เกาหลีเหนือจึงพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาเพื่อความสมดุล และถ้าสหรัฐฯ เปิดความสัมพันธ์ ก็เท่ากับว่า รับรองสถานะของเกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ แต่สหรัฐฯ จะตกลงหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะสหรัฐฯ อาจจะนำเรื่องนี้ไปผูกกับเรื่องอื่น เช่น การยุติโครงการนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง หรือการลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุดซึ่งเป็นเรื่องยาก แน่นอนว่าการเปิดความสัมพันธ์มันต้องมีขั้นมีตอน การลดอาวุธนิวเคลียร์มันก็มีขั้นมีตอนเช่นเดียวกัน ดังนั้นการพบกันในวันที่ 12 นี้แล้วจะยุติอาวุธนิวเคลียร์เลย คงจะเป็นไปไม่ได้ คงต้องคุยกันในเรื่องของกระบวนการก่อน และหากเกาหลีเหนือตอบตกลงลดจำนวนขีปนาวุธ หรือลดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีเหนือจะขอแลกกับอะไร คงไม่ใช่แค่การเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นที่ซับซ้อนกว่านั้นอีก เช่น เกาหลีเหนืออยากให้สหรัฐฯ ถอนกำลังทหารออกจากเกาหลีใต้ทั้งหมดโดยเฉพาะทหารบกที่มีจำนวนมากกว่า 30,000คน ซึ่งเป็นเรื่องยาก เพราะทหารอเมริกันเป็นสิ่งที่ค้ำประกันความมั่นคงของเกาหลีใต้อยู่ และไม่ได้ทำหน้าที่แค่ในเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ดูแลภูมิภาคนี้โดยรวมด้วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องความต้องการให้สหรัฐฯ ยุติการซ้อมรบ ซึ่งทำกับเกาหลีใต้เป็นประจำทุกปี เพราะฉะนั้นโจทย์ตรงนี้ยากมากหรือถ้าเป็นไปได้ คาดว่าน่าจะเป็นการประนีประนอมกันในลักษณะแบบคุยกันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละขั้น ไม่ใช่กระบวนการแบบเบ็ดเสร็จ ยกเว้นเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพอย่างที่กล่าวไปข้างต้น
รศ.ดร.นภดล กล่าวเพิ่มเติมว่า หากการพบกันของผู้นำทั้งสองประเทศในครั้งนี้เป็นไปได้ด้วยดี ก็จะเป็นผลดี ต่อการค้า การลงทุน และที่สำคัญต่อสันติภาพของโลก ส่วนประเทศไทยเอง หากเกาหลีเหนือเปิดประเทศมากขึ้นก็จะสามารถทำมาค้าขายได้ เพราะเกาหลีเหนือก็มีประชากร 20 กว่าล้านคน และมีแร่ธาตุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ในด้านเศรษฐกิจ หากเปิดประเทศก็ยังคงต้องการการลงทุนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้ไทยมีลู่ทางในการเข้าไปลงทุน เนื่องจากประเทศไทยก็มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เป็นอย่างดี และทั้งสองประเทศก็มีสถานทูตอยู่ในไทยอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit