5 เดือนเต็มที่นักศึกษากว่า 20 ชีวิต ลงพื้นที่สำรวจชุมชนทุกตรอกซอกซอย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนหลากอาชีพ ทุกเพศทุกวัย เพื่อหาโจทย์ที่จะทำโครงการ ด้วยความเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ชาวคลองเตยต่างสะท้อนปัญหาที่หลากหลาย และความท้าทายในชีวิตซึ่งผู้คนที่นี่มักพูดถึง คือ "ปัญหาหนี้สิน"
"บีม" ชาลิสา พงศ์พันธ์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ถ่ายทอดประสบการณ์ในการลงพื้นที่เรียนรู้ว่า "ตอนแรก พอได้ยินชื่อคลองเตย เราตัดสินเขาไปก่อนแล้วตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่พอเราได้ไปสัมผัสชีวิตที่นี่ โดยมีพี่ๆ น้องๆ ในชุมชนพาเดินสำรวจทุกพื้นที่ ได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น เห็นความน่ารักของชุมชน ได้พบเจอผู้คนดีๆ เจอเยาวชนที่มีศักยภาพ ซึ่งเราไม่เคยรับรู้มาก่อน จากการพูดคุยกับผู้คน ปัญหาหนึ่งที่หลายคนในชุมชนกำลังเผชิญ คือ ปัญหาการเงินและหนี้สิน ซึ่งอาจไม่ได้แปลว่าชุมชนยากจน แต่อาจหมายถึงความต้องการเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการเงิน เราเลยจับประเด็นเรื่องความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) โดยเลือกที่จะทำงานกับกลุ่มเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราเข้าถึงได้ และเด็กๆ ที่เราทำกิจกรรมด้วยส่วนใหญ่ก็ใกล้ถึงวัยที่พวกเขาต้องออกไปอยู่ในจุดที่ต้องทำงานและจัดการการใช้เงินของตนเอง เราจึงอยากปลูกฝังเรื่องการใช้เงินกับเขา เพื่อให้ทักษะติดตัวพวกเขาและเกิดประโยชน์ในวันข้างหน้าได้"
แล้วทำไมต้องเป็นบอร์ดเกม? คำตอบที่ได้จากนักศึกษากลุ่มนี้คือ พวกเขาเห็นว่าธรรมชาติของเด็กโดยทั่วไปนั้นชอบเล่นซึ่งนำไปสู่การอยากเรียนรู้ จึงคิดที่จะทำงานกับเด็กๆ ในชุมชนโดยการเอาเกมมาเชื่อมโยงการเรียนรู้กับความสนุกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเสริมทักษะด้านการใช้เงินผ่านการเล่นเกม และเชื่อมโยงสู่การถอดบทเรียนให้น้องๆ เห็นว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
การที่นักศึกษาทั้งกลุ่มแทบไม่เคยเล่นบอร์ดเกมมาก่อน แต่อยากจะออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ขึ้นมาใช้งานจริงๆ ถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบากไม่น้อย เพื่อให้เข้าใจกลไกของการออกแบบเกม ทุกคนในกลุ่มต้องเล่นเกมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต้องทำ Research ในพื้นที่อย่างหนัก รวมไปถึงต้องทำความเข้าใจเรื่องความรู้ทางการเงินให้มากที่สุด แล้วลองเล่นและปรับแก้มานับครั้งไม่ถ้วน พร้อมทั้งฝึกนำเล่นเกมและถอดบทเรียน เพื่อสร้างสรรค์เกมที่เหมาะกับเยาวชนในพื้นที่คลองเตยจริงๆ
บีมได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "บางครั้งโครงการของเราที่คิดว่าดีแล้ว แต่เมื่อเจอสถานการณ์จริงมันมีอีกมากที่ต้องปรับแก้ เพราะมันคือการทำงานจริง ไม่ใช่การทำงานบนหน้ากระดาษ ซึ่งการเรียนในคณะที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจความแตกต่างหลากหลายก็ช่วยได้มาก และด้วยความที่พวกเราชินกับการเรียนที่เป็นกระบวนการ ทำให้เราสามารถนำน้องๆเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมได้ไม่ยากนัก"
รอยยิ้มของน้องๆ ในชุมชนคลองเตย และความเข้าใจในการจัดการบริหารจัดการเงินในชีวิตประจำวันที่มากขึ้น เมื่อได้ลองเล่นบอร์ดเกมที่มีต้นทุนจากชุมชนของพวกเขาเอง รวมไปถึงความสนใจจากเหล่าเกมเมอร์ผู้ทำงานด้านบอร์ดเกม ถือเป็นกำลังใจอย่างดีให้น้องๆ นักศึกษาชั้นปี 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มนี้
ความสำเร็จในวันนี้ ดูเหมือนเป็นแค่บอร์ดเกมหนึ่งกล่องกับการฝึกให้เยาวชนคลองเตยสามารถไปนำเล่นเกมและถอดบทเรียนกันเองต่อได้ แต่ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กในคลองเตยหันมาสนใจการศึกษามากขึ้น ด้วยเห็นแล้วว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดแค่ในโรงเรียน แต่สามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งรอบตัวอย่างอย่างการเล่นได้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit