ผศ.นิตยา จิตรักษ์ธรรม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะฯ พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารอีก 5 มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน ลงนามความร่วมมือกับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา (NBT) ในการสร้างเครือข่าย On Air, On Line และ ON Ground และร่วมสนทนาในรายการพิราบคาบข่าว เพื่อประชาสัมพันธ์การปฏิรูปประเทศ โดย มรภ.สงขลา จะเป็นเครือข่ายส่งข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในรูปแบบรายการ สกู๊ปข่าว สารคดีสั้น สปอต ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ นำมาเผยแพร่ในช่วงเวลาต่างๆ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา ถือเป็นการสร้างโอกาสให้นักศึกษาพัฒนาฝีมือจากการปฏิบัติงานจริง ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในศาสตร์แขนงนี้ นอกจากนั้น ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแนวทางของประชารัฐที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า
ด้าน นายธีรพงศ์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ทางสถานีฯ จะเสริมสร้างความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในวิชาชีพนักสื่อสารมวลชนด้านวิทยุโทรทัศน์ให้กับนักศึกษาฝึกงานจากคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา ที่มาฝึกงานด้านข่าวและรายการโทรทัศน์อย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีติดต่อสื่อสาร ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของประชาชน ด้วยมีทางเลือกเข้าถึงเนื้อหาอย่างสะดวกและหลากหลายมากขึ้น องค์กรผู้ผลิตและเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อหลักจึงปรับตัวหันไปให้ความสำคัญกับสื่อสมัยใหม่หรือสื่อทางเลือก เป็นเครื่องมือในการส่งข่าวสารให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม
นายธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า พฤติกรรมการรับชมข่าวสารของประชาชนที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ส่งผลต่อภารกิจงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ในการดำเนินภารกิจสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนรับรู้แนวทางการปฏิรูปประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กรมประชาสัมพันธ์จำเป็นต้องพัฒนางานสื่อภายใต้การกำกับให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข่าวสารจากสื่อหลักไปสู่สื่อสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายการทำงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การสร้างการรับรู้และเชื่อมั่นต่อข้อมูลข่าวสาร เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลต่อการประชาสัมพันธ์การปฏิรูปประเทศไทยบรรลุตามวัตถุประสงค์