หลักเกณฑ์ที่จะออกมานี้จะช่วยให้มีความชัดเจนสำหรับผู้ต้องการออกไอซีโอ ตัวกลางที่เกี่ยวข้อง และผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และช่วยลดโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงหรือถูกเอาเปรียบ รวมทั้งช่วยให้ภาครัฐมีเครื่องมือในการติดตามและป้องปรามการฟอกเงิน
ผู้ที่จะออกไอซีโอ ต้องเป็นบริษัทตามกฎหมายไทยที่มีแผนธุรกิจชัดเจน มีงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบ ข้อกำหนดสิทธิของผู้ถือโทเคนดิจิทัลต้องชัดเจน มีการเปิดเผยชุดรหัสทางคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกระบวนการไอซีโอ (ซอร์สโค้ด) มีหนังสือชี้ชวน และมีการรายงานความคืบหน้าของโครงการและการใช้เงินเป็นระยะ ทั้งนี้ การเสนอขายต้องทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ไอซีโอพอร์ทัล) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งไอซีโอพอร์ทัลจะทำหน้าที่คัดกรองโครงการและทำความรู้จักตัวตนและสถานะผู้ลงทุน ตลอดจนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน
การออกไอซีโอแต่ละครั้งสามารถขายให้ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ กิจการร่วมลงทุนได้ไม่จำกัดและขายผู้ลงทุนรายย่อยได้รายละไม่เกิน 3 แสนบาท นอกจากนี้ วงเงินรวมที่ขายผู้ลงทุนรายย่อย ต้องไม่เกิน 4 เท่าของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 70 ของมูลค่าที่เสนอขายทั้งหมด
ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ทั้งนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย ให้เป็นไปตามข้อบังคับของศูนย์ซื้อขายซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ในศูนย์ซื้อขายต้องเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบาทหรือคริปโทเคอร์เรนซีในรายชื่อที่ประกาศกำหนดเท่านั้น
อนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบในการออกประกาศยกเว้นโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง (utility token) ซึ่งผู้ถือสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ออกจากการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน นอกจากนี้ ผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่เทียบกับเงินบาท หรือให้บริการแลกเปลี่ยนระหว่าง utility token ด้วยกันที่ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะในลักษณะเดียวกัน เช่น ระหว่างเหรียญในเกมส์หรือ แต้มสะสมคะแนนแลกสินค้าหรือบริการ ไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก. นี้
นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า "หลักเกณฑ์ที่ออกมานี้ ได้พยายามหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรม และการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้นำความเห็นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา เกณฑ์ที่ออกมา อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้จากของจริงไปด้วยกันระหว่างทางการและภาคธุรกิจ"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit