นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าตามกรอบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือและโซเดียมแห่งชาติซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายขององค์การอนามัยโลก (TheWorldHealthOrganization: WHO) ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม องค์การอนามัยโลก และภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ประชุมหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร หาข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาทของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป กลุ่มอาหารแช่เย็นแช่แข็ง กลุ่มขนมขบเคี้ยว และกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการช่วยผลักดันการลดการบริโภคโซเดียมของประชากร และร่วมกันหาแนวทางหรือมาตรการในการลดโซเดียมหรือช่วยกันผลักดันให้เกิดกฎหมายหรือข้อบังคับกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารภาคเอกชน
นพ.พูลลาภ กล่าวต่อว่าปัจจุบัน อย. ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหาร ผลิตอาหารที่ลดหวาน มัน เค็ม ติดฉลาก"ทางเลือกสุขภาพ"เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่เหมาะกับสุขภาพของตนเอง โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้วทั้งสิ้น 633 ผลิตภัณฑ์แบ่งเป็นกลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่และโจ๊ก) 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นม 81 ผลิตภัณฑ์และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งอย.ได้กำหนดแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง
ผงหรือก้อนปรุงรส โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน และจัดทำแผนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเกิดประสิทธิผล ก่อนมีมาตรการทางกฎหมายต่อไป
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มกล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้มีประชุมเพื่อขับเคลื่อนโรงพยาบาลลดเค็มน้อยอร่อย (3) ดี ทั่วประเทศ จำนวน 83 แห่ง พร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อปรับลดปริมาณลดค่าปริมาณโซเดียมลง จากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้การให้บริการอาหารในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขทั้งอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาล อาหารจากร้านค้าสวัสดิการของโรงพยาบาล หรืออาหารสำหรับญาติและผู้ที่มารับการบริการภายในโรงพยาบาลจะต้องเป็นอาหารที่มีปริมาณโซเดียมต่ำด้วย ซึ่งปัจจุบันความรุนแรงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการได้รับโซเดียมสูงมากเกินความต้องการในแต่ละวัน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประชากรไทยโดยบูรณาการควบคุมปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จะต้องมียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน มร. แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การลดบริโภคเกลือในประชากรมีความสำคัญและมีความคุ้มค่าในการทำให้สุขภาพของประชากรทั่วโลกดีขึ้น ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (TheWorld Health Organization:WHO) จึงได้ส่งเสริมให้ทุกประเทศลดการบริโภคเกลือในประชากรให้เหลือ 5 กรัมต่อวันหรือ 1 ช้อนชาต่อวันโดยยึดรูปแบบวิธีการจัดการปัญหาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ซึ่งการบริโภคเกลือของประชากรไทยสูงเกือบสองเท่าของระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ซึ่งในปัจจุบันประชากรไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของการตายเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย ดังนั้นการปรับสูตรอาหารสำเร็จรูปให้ลดปริมาณเกลือลงจึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยลดการบริโภคเกลือในประชากรไทย ส่วนการปรับสูตรอาหารลดโซเดียมจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้ได้ผลแล้วในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เพื่อที่จะช่วยรักษาสุขภาพของประชากรของตนไว้อย่างถ้วนหน้า
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit