เอ็มเทค-สวทช. ร่วม ศวปถ. และ สสส. มอบต้นแบบ “รถรับส่งนักเรียนโครงสร้างปลอดภัย” ให้กับโรงเรียนบ้านตาเรือง

25 Jun 2018
โรงเรียนบ้านตาเรือง จ.จันทบุรี เมื่อเร็วๆ นี้ (20 มิ.ย. 61) : ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่งมอบต้นแบบรถรับส่งนักเรียนโครงสร้างหลังคาแข็งแรงปลอดภัย ให้แก่ โรงเรียนบ้านตาเรือง จ.จันทบุรี ที่มีการจัดการดูแลรถรับส่งอย่างเป็นระบบ โดยเครือข่ายรับส่งนักเรียนปลอดภัย จันทบุรีโมเดล ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เพื่อใช้ในการทดสอบ และเป็นต้นแบบในการทำโครงสร้าง และส่งมอบแบบให้แก่ผู้ประกอบการอู่ต่อเติมรถ เพื่อนำไปสร้างโครงหลังคาที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยในการใช้รับส่งนักเรียน
เอ็มเทค-สวทช. ร่วม ศวปถ. และ สสส.  มอบต้นแบบ “รถรับส่งนักเรียนโครงสร้างปลอดภัย” ให้กับโรงเรียนบ้านตาเรือง

ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ดำเนินงานโครงการ "การศึกษาแนวทางการออกแบบเชิงวิศวกรรมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยของรถสองแถวรับส่งนักเรียน" ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างหลังคารถรับส่งนักเรียนและอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ ได้แก่ ประตูท้ายรถ บันไดขึ้นลง สัญญาณไฟส่องสว่าง โดยมีเป้าหมายหลักสองส่วน คือ เพื่อยกระดับความปลอดภัยของนักเรียนที่โดยสารรถรับส่งนักเรียน มีความเหมาะสมกับการใช้งานตามวิถีชีวิตของคนไทยในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และเพื่อให้สถานประกอบการหรืออู่ต่อหลังคารถและดัดแปลงรถกระบะประเภทสองแถวภายในประเทศ สามารถผลิตหลังคารถที่มีมาตรฐานและคุณภาพได้ด้วยตัวเอง โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และมีต้นทุนที่ไม่สูงมากไปกว่าเดิม ส่วนของโครงสร้างที่ได้มีการดำเนินการออกแบบใหม่ มีดังนี้

  • โครงสร้างหลังคาเหล็ก เป็นชนิดวัสดุเหล็ก จำนวนและรูปแบบการเชื่อมต่อโครงสร้างหลักและวิธีการเชื่อมต่อโครงสร้าง โดยมีการวิเคราะห์ด้วยระเบียบวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์ และดำเนินการทดสอบเพื่อพิสูจน์ความถูกต้องของการออกแบบ ด้วยการทดสอบความแข็งแรงเพื่อปกป้องผู้โดยสารกรณีเกิดอุบัติเหตุชนหรือพลิกคว่ำตามมาตรฐาน FMVSS220
  • ออกแบบวิธีการติดตั้งโครงสร้างหลังคาเข้ากับกระบะแข็งแรง ด้วยการเลือกอุปกรณ์จับยึดจำนวนและประเภทโบลต์และน็อต ให้สามารถรับแรงได้ 10 เท่าของน้ำหนักโครงสร้างทั้งหมด
  • ออกแบบวิธีการติดตั้งติดตั้งเก้าอี้กับพื้นให้แข็งแรง ป้องกันการหลุดกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ
  • ประตูท้ายรถ พร้อมสัญญาณแจ้งเตือน เพื่อป้องกันนักเรียนตกจากรถ มีระบบล็อคสองชั้น และมีสัญญาณแจ้งคนขับ เมื่อประตูเปิด
  • บันไดขึ้นลง ซึ่งแข็งแรงทดแทนกันชนท้าย ไม่มีพื้นที่สำหรับการโหนท้ายรถ มีขนาดลูกนอนกว้าง ก้าวขึ้นลงได้สะดวก
  • ไฟสัญญาณเหลืองอำพันรอบคัน เห็นได้ชัดจากระยะ 150 เมตร
  • ไฟสัญญาณเบรกและเลี้ยว เห็นได้ชัดจากระยะ 150 เมตร

"ในระยะต่อไป ทีมวิจัยจะดำเนินการร่วมกับ ศวปถ. และกรมการขนส่งทางบก ในการจัดการอบรมเพื่อขยายผลและถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีการผลิตโครงสร้างหลังคาและชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีคุณภาพมาตรฐานให้แก่สถานประกอบการหรืออู่ต่อหลังคาเหล็กทั่วประเทศ ซึ่งจะมอบแบบเชิงวิศวกรรม (Technical drawing) ให้สถานประกอบการหรืออู่ไว้ใช้เป็นสาธารณประโยชน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเกิดการขยายผลการผลิตโครงสร้างหลังคารถกระบะประเภทสองแถวให้ได้มาตรฐานต่อไป" ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(