ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในช่วงเปิดการเสวนา "ในปี 2561 นี้ ประเทศไทยมีวาระด้านดิจิทัล 5 แนวทาง ได้แก่ การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มการพึ่งพาตัวเองด้านดิจิทัล ยกระดับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ และเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐบาลในการดำเนินการเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยมีกฎหมาย 3 ฉบับที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ กฎหมายด้านการพัฒนาดิจิทัล กฎหมายด้านตราสารการเปลี่ยนมือทางอิเล็คทรอนิกส์ และกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์นับเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทย โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีบทบาทในการสร้างเศรษฐกิจและสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสให้กับประชากรทุกคน"
ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก ด้วยปัจจัยด้านการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายในกรอบการทำงานของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในปี 2560 มีจำนวน 66-68 โครงการ ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน และร้อยละ 88 – 89 ของโครงการเหล่านี้เป็นโครงการด้านโทรคมนาคม จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "รัฐบาลไทยลงทุนมากกว่า 700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม โดย CAT วางแผนที่จะเพิ่มศักยภาพในระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการเติบโตของแบนด์วิดท์ในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมา CAT ได้เปิดใช้งานระบบเคเบิลใต้น้ำ APG (Asia Pacific Gateway) เชื่อมต่อตรงจากไทยไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีเทคโนโลยีขยายแบนด์วิดท์ด้วยความเร็วในการรับส่งข้อมูล นับเป็นความจุแบนด์วิดท์สูงสุดกว่าทุกระบบที่ใช้งานอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านดิจิทัล โดยใช้โครงข่ายในประเทศไทยเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆทั่วโลก"
"โครงการ Digital Park เป็นหนึ่งในโครงการรัฐที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยนำนวัตกรรมและบริการของภาคธุรกิจสนับสนุนให้ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเติบโต ซึ่งจะสร้างประตูสู่โครงข่ายเชื่อมต่อนานาชาติ ด้วยสายเคเบิลใต้น้ำที่จะเชื่อมไทยเข้ากับโครงข่ายฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ พร้อมกันนี้ CAT ยังดำเนินการโครงการสมาร์ทซิตี้ในภูเก็ต โดยใช้เทคโนโลยี และเครือข่าย IoT ในการเก็บและพัฒนาข้อมูลในเมืองภูเก็ต ซึ่งข้อมูลนี้จะสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาและออกแบบแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งการวางระบบ WiFi ให้สามารถใช้งานได้ทั่วพื้นที่จะทำให้สามารถพัฒนากิจกรรมต่างๆ ทั้งสำหรับภาคสาธารณะและเพื่อยกระดับธุรกิจและบริการในเมืองต่างๆให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลนั้น จะมี Big Data หรือข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี IoTs และอุปกรณ์ IoTs โดยรัฐบาลเองก็กำลังผลักดันการจัดการ Big Data ในภาครัฐ เพื่อเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ ทำให้ภาคเอกชนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้นำไปประมวลเพื่อให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค และสามารถปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นได้"
นอกจากนี้ ในการประชุมฯ ได้กล่าวถึงนักลงทุนระดับภูมิภาคและระดับโลกที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีข้อกังวลใน 3 ประเด็น ได้แก่ อัตราคนว่างงาน สังคมผู้สูงอายุ และการพัฒนาด้านนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลไทย ปรับปรุงกฎหมายและข้อบังคับให้มีความเป็นสมัยใหม่ เพื่อให้ง่ายแก่การที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะสามารถเติบโตได้ รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การสร้างนวัตกรรม และการวางรากฐานการศึกษาด้านนวัตกรรมและดิจิทัลให้เยาวชนไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ด้านการลงทุนและธนาคาร ได้เสนอแนวทางในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดย CAT ก็ได้สร้างความเชื่อมั่นในด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมและระบบซัพพอร์ต
"เพื่อการบูรณาการประเทศไทยเข้ากับเศรษฐกิจโลก รวมทั้งโปรโมท Thailand 4.0 เรากำลังสร้างรากฐานในหลายมิติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลให้กับภาคธุรกิจอย่างสมบูรณ์" ดร.ดนันท์กล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit