ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน "มหกรรมอาหารปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561" ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในเรื่องความปลอดภัยของอาหารและสุขภาพของประชาชน โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการที่จะทำให้ประเทศไทยเป็น "ครัวของโลก" ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาระบบการดูแล ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยอาหารที่ผลิตทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) ตั้งแต่วัตถุดิบ(การเพาะปลูก เพาะเลี้ยง) การแปรรูป การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงผู้บริโภค โดยแนวทางการดำเนินงานในด้านอาหารปลอดภัยต้องบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยพัฒนามาตรฐานกฎหมายให้เป็นสากล เสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลอาหารปลอดภัยอย่างครบวงจร ตั้งแต่การควบคุมการนำเข้า การผลิต การจำหน่ายและการขนส่ง สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน (OTOP) ให้เป็น Smart Product พัฒนาศักยภาพผู้บริโภคให้มีความรู้ มีพฤติกรรมที่ถูกต้องในการเลือกซื้อ และบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย พัฒนาบุคลากรด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพอาหาร ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการให้มีขีดสมรรถนะในการส่งเสริมสนับสนุนและแก้ไขปัญหา เชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศระหว่างหน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพและใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายของประเทศได้ เป็นการ "สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจโลก"นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของประเทศ ได้สนับสนุน ส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งด้านอาหารปลอดภัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แหล่งกระจายสินค้า เช่น ตลาดกลางค้าส่ง ห้างค้าปลีก โรงคัดตัดแต่ง ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารปนเปื้อนและสารตกค้างในอาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์ยกระดับการจัดจำหน่ายเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน (OTOP) และอุตสาหกรรมอาหารขนาดเล็ก (SMEs) พัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้สามารถตรวจวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มีข้อมูลด้านอาหารของประเทศ (Big data) ที่นำไปวิเคราะห์เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายป้องกันและแก้ปัญหาความเสี่ยงและความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร ช่วยส่งเสริม และแก้ปัญหาด้านการส่งออกสินค้าให้กับผู้ประกอบการในฐานะห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโลหะหนักของอาเซียน เนื่องจากประเทศปลายทางได้กำหนดให้สินค้าจากประเทศไทยต้องตรวจสารหนูอนินทรีย์จากห้องปฏิบัติการอ้างอิงของอาเซียนเท่านั้น โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการกว่า 800 แห่ง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนและยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในระดับฐานรากอีกด้วย
"นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาชุดทดสอบต้นแบบเพื่อตรวจหาการปนปลอมไซบูทรามีนในอาหารเสริมลดความอ้วนได้สำเร็จ โดยใช้เทคนิค Thin Layer Chromatography (TLC) สามารถทราบผลได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง มีความแม่นยำ ความไวสูง ตรวจหาสารได้ในระดับต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อหนึ่งแคปซูล และเตรียมพร้อมเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และตำรวจ นำไปใช้ในการตรวจเบื้องต้น โดยชุดทดสอบดังกล่าวได้นำมาเปิดตัวในงานมหกรรมอาหารปลอดภัยครั้งนี้ด้วยและขั้นต่อไปจะพัฒนาให้ชุดทดสอบดังกล่าวมีความง่าย สะดวก และแม่นยำสูงขึ้น เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์" นายแพทย์สุขุมกล่าว