เมื่อ “บางกระเจ้า” คือ พื้นที่แห่งความสมบูรณ์: เมล็ดพันธุ่จึงเจริญงอกงาม

20 Jun 2018
เมื่อกล่าวถึง "บางกระเจ้า" หลายคนมักนึกถึงคำว่า "ปอดของกรุงเทพมหานคร" หรือ "พื้นที่สีเขียวกลางกรุง" นอกจากนี้บางกระเจ้าคือพื้นที่ "สวนผลไม้นานาพันธุ์" เสน่ห์ของบางกระเจ้านี้เองได้เชิญชวนให้ผู้คนหลากหลายเข้ามาเยี่ยมชมความงามที่ชอุ่มชุ่มชื้นซึ่งชะโลมใจให้ไหลหลงความสุขด้วยธรรมชาติ หากแต่การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวนับเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เล็ก ๆ ที่นับวันจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชน รวมถึง "เยาวชน" ที่กำลังเจริญเติบโตท่ามกลาง "บางกระเจ้าที่เปลี่ยนไป"
เมื่อ “บางกระเจ้า” คือ พื้นที่แห่งความสมบูรณ์: เมล็ดพันธุ่จึงเจริญงอกงาม

พื้นที่บางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปร่วมสร้างการเรียนรู้ชุมชนกับเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบางกระสอบและโรงเรียนวัดบางน้ำผึ้งนอก ผ่านโปรเจค "Bang Krachao online learning space" โดยมีแนวคิดที่จะชวนให้เยาวชนในพื้นที่บางกระเจ้าได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ด้วยวิธีการบอกเล่าเรื่องราวบนโลกออนไลน์เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกหรือผู้ที่สนใจด้วยพลังเยาวชนที่จะร่วมเล่าเรื่องบางกระเจ้าจากมุมมองของพวกเขาอย่างน่าสนใจ

"มาย" จุฑาทิพย์ ภาพสวัสดิ์ ตัวแทนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำโปรเจคชิ้นนี้ว่า

พวกเราตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรคนในชุมชนจึงจะเข้ามามีส่วนร่วมและเกิดการเรียนรู้ร่วมไปกับพวกเขาด้วย หลังจากที่พิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ ในชุมชนแล้ว เราพบว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับบางกระเจ้า มักเป็นเรื่องราวที่มาจากคนนอกที่เล่าเรื่องให้กับชุมชน ณ จุดนี้ พวกเรามองเห็นประเด็นที่น่าสนใจ คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้เยาวชนได้เล่าเรื่องของเขาด้วยตัวเองผ่านโลกออนไลน์

นอกจากนี้ "มาย" ยังสะท้อนสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานอย่างน่าสนใจว่า

น้อง ๆ ทุกคนล้วนมีช่องทางการสื่อสารออนไลน์ส่วนตัวอยู่แล้วทั้ง facebook instagram บางคนก็มี channel youtube เป็นของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่เราต้องเติมคือเรื่องการใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ รู้จักแยกแยะ วิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสื่อได้ และเป็นผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ได้ นอกจากนั้นยังนำตัวอย่างของสื่อในปัจจุบันไปให้น้อง ๆ ดูเพื่อวิเคราะห์และสะท้อนความคิดเห็นร่วมกันว่าอะไรคือส่วนที่ดีและไม่ดี หรือกระทั่งผลลัพธ์ที่จะเกิดกับผู้รับสื่อคืออะไร แล้วคิดต่อว่าจะปรับใช้ยังไงกับการใช้สื่อออนไลน์ในชีวิตประจำวันของตัวเองได้บ้าง

จากโปรเจค กลุ่มพวกเราฝึกฝนน้อง ๆ ให้เป็นนักผลิตสื่อสร้างสรรค์ด้วยทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อใช้ในการนำเสนอ "เรื่องเล่า" ต่าง ๆ จากชุมชน ด้วยการเขียนเล่าเรื่องชุมชนบางกระเจ้าโดยเริ่มต้นจากคำ 5-6 คำ แล้วใช้ทักษะการคิดเชื่อมโยงจนสามารถเขียนเป็นเรื่องราวของตัวเองได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมให้มีการจำลองตัวเองเป็นนักการสื่อสาร เช่น การจัดทำรายการข่าวบางกระเจ้า โดยน้อง ๆ เป็นผู้ที่คิดหัวข้อเอง เขียนบทเอง แสดงเองด้วยการสื่อสารออกมาในมุมมองที่สร้างสรรค์ แล้วจึงนำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นโพสต์เผยแพร่ลงเฟซบุ้คหรือช่องทางสื่อออนไลน์ของตนเองจนกลายเป็นโปรเจคดังที่ได้กล่าวมา

แม้ว่าความยั่งยืนของ โปรเจค "Bang Krachao online learning space" อาจต้องใช้เวลาและความใส่ใจในการติดตามผลการทำงานต่อไป หากแต่เรื่องราวและเส้นทางการเรียนรู้ของนักศึกษาสู่การทำงานชุมชนของพื้นที่บางกระเจ้าครั้งนี้ ชี้ให้เห็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ได้นำเทคนิค ความรู้จากในห้องเรียนไปใช้ทันที การเรียนรู้ผ่านชุมชนนี้พวกเขาจะได้รับทักษะอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือเนื้อหาที่เรียกได้ว่าเป็นทฤษฎีอย่างแน่นอน

กล่าวได้ว่า "บางกระเจ้า" คือ พื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชพันธุ์เพื่อรอวันเจริญเติบโตและเก็บเกี่ยวผลผลิต อีกนัยหนึ่ง ก็ยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์การเรียนรู้ ให้แก่กลุ่มเยาวชนบางกระเจ้าและนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ที่รอวันเจริญงอกงามกลายเป็นต้นไม้แห่งการเรียนรู้ต่อไป

เพราะพวกเขาคือความหวังของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เป็นเมล็ดพันธุ์ที่รอการเติบโต งอกงาม และผลิบานในภายภาคหน้า....

เมื่อ “บางกระเจ้า” คือ พื้นที่แห่งความสมบูรณ์: เมล็ดพันธุ่จึงเจริญงอกงาม เมื่อ “บางกระเจ้า” คือ พื้นที่แห่งความสมบูรณ์: เมล็ดพันธุ่จึงเจริญงอกงาม เมื่อ “บางกระเจ้า” คือ พื้นที่แห่งความสมบูรณ์: เมล็ดพันธุ่จึงเจริญงอกงาม