สสส. จับมือภาคสังคมและการศึกษา พัฒนาตัวบ่งชี้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง

20 Jun 2018
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ร่วมกับ Thai Civic Education จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ พัฒนาตัวบ่งชี้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ครั้งที่ 8 เพื่อนำไปสร้างเป็นชุดความรู้เพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ส่งต่อให้กับสาธารณชนได้ทำความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ MIDL โดยตลอดปีที่ผ่านมา ได้เปิดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำสู่การต่อยอดในการนำไปใช้จริงและสร้างความเข้าใจสู่สาธารณชนต่อไป
สสส. จับมือภาคสังคมและการศึกษา พัฒนาตัวบ่งชี้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง

เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า "ในยุคที่สื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาพลเมืองจำเป็นต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทันท่วงที สสส. มีเป้าหมายในการสร้างพลเมืองที่เป็นนักสื่อสารสุขภาวะ ซึ่งเป็นพลเมืองที่เข้าใจตนเอง เข้าใจสื่อ เข้าใจสังคม และการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล หรือ MIDL ก็เป็นทักษะและเครื่องมือสำคัญของนักสื่อสารสุขภาวะ ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนสร้างสิ่งที่ดีให้กับสังคม ที่ผ่านมา สสย. ได้เชื่อมโยงการทำงานพัฒนากรอบแนวคิดเรื่อง MIDL นี้ร่วมกับ Thai Civic Education ซึ่งเป็นเครือข่ายคนทำงานการศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง การจับมือทำงานร่วมกันครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ความรู้เรื่องการเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล สามารถที่จะบูรณาการกลมกลืนไปกับเรื่องของการศึกษา เพื่อไปถึงเป้าหมายท้ายสุด คือการได้เห็นคนที่เติบโตเป็นพลเมือง ลุกขึ้นมาช่วยกันสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ"

ด้าน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย หรือ Thai Civic Education ได้กล่าวถึงความสำคัญของการนำความรู้ด้านเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพลเมืองว่า "เราจะเห็นว่าทุกวันนี้คนในสังคมส่วนใหญ่บริโภคข่าวสารกันแบบต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น อย่างถ้าเรามองเห็นการแชร์ภาพเด็กถูกครูแกล้งจนร้องไห้ ถ้าเป็นคนทั่วไปเราอาจจะแชร์ต่อเพราะคิดว่าดูน่ารักดี แต่ถ้าเราสวมแว่นตาของความเป็นพลเมืองที่เท่าทันสื่อเข้าไป เราจะมองเห็นว่าปรากฏการณ์นี้คือการละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิด พรบ.คุ้มครองเด็กฯลฯ ถ้าเราเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ เราจะเข้าใจ ไม่รีบตัดสินใจ รอบคอบ ไม่ละเมิดสิทธิใคร วันนี้เราไม่ได้มองพลเมืองเป็นเพียงผู้รับสื่อ แต่คือการเป็นผู้ผลิตสื่อ เขาจะใช้สื่ออย่างรับผิดชอบได้อย่างไร จะใช้สื่อยุติข่าวลือ ไม่ผลิตข้อความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้นในสังคมได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ"

การพัฒนาองค์ความรู้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดย สสย. และ Thai Civic Education ถึงวันนี้ก้าวมาถึงการพัฒนาตัวบ่งชี้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง เป็นกระบวนการเพื่อสร้างตัวชี้วัดที่จะเป็นแกนกลางหลักในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้นำไปพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในอนาคต โดย อ.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมเวทีการระดมความคิดเห็นในการพัฒนาตัวบ่งชี้ ได้กล่าวถึงประโยชน์ในการทำงานครั้งนี้ว่า "ตัวบ่งชี้ที่ทาง สสย. และ Thai Civic Education ได้พัฒนาขึ้นมาครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะสามารถนำไปปรับใช้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถแปรไปเป็นแบบเรียน แบบฝึกหัดในการฝึกหัดครู หรือต่อยอดไปเป็นระบบการวัดประเมินผล ฯลฯ สิ่งที่ดีคือตัวชี้วัดที่ได้ครั้งนี้ ไม่ได้เริ่มจากตัวหนังสือ แต่เป็นการพัฒนาเริ่มต้นขึ้นมาประสบการณ์ จากสื่อ จากชุดความรู้ของ สสย. ที่มีอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่เราสามารถหยิบมาต่อยอด เป็นเส้นทางในการนำไปใช้ต่อได้ ซึ่งจะช่วยบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ได้มาก"

หลังจากนี้ สสย. และ Thai Civic Education จะได้นำตัวบ่งชี้การเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่พัฒนาขึ้นนี้ ไปสร้างเป็นชุดความรู้เพื่อนำสู่การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ส่งต่อให้กับสาธารณชนได้ทำความเข้าใจและสามารถนำไปใช้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการสร้างพลเมืองเท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลในด้านต่าง ๆ ต่อไป

HTML::image(