ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยว่า ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เพื่อดำเนินโครงการ วิจัยแบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม พัฒนาบุคลากรทางด้านวัสดุเพื่อพลังงานที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศ ตลอดจนความร่วมมือในระดับนานาชาติ การประชุมครั้งนี้มีการเข้าไปหารือความเป็นไปได้ในการร่วมมือการทำวิจัยด้านแบตเตอรี่ฯ ชนิดดังกล่าวโดยภาคเอกชนได้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการหารือในครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีศักยภาพความพร้อมทางด้านบุคลากรที่มีความสามารถและศักยภาพสูง มีองค์ความรู้ที่เพียงพอที่จะดำเนินการ อีกทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีบูรณาการ อยู่ในระหว่างการขอทุนสนับสนุนการวิจัย จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในระยะที่ 3 ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2564 คาดว่าจะสามารถร่วมกับเอกชนพัฒนา อะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery) ได้สำเร็จแน่นอน
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ในตอนท้ายว่า แบตเตอรี่ชนิดอะลูมิเนียมไอออนแบตเตอรี่ (Al-ion battery) มีข้อดีหลายประการ เช่น ธาตุอะลูมิเนียมซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักมีจำนวนมากบนโลก และมีราคาที่ต่ำ ดังนั้นแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จึงมีราคาถูก นอกจากนี้แล้วแบตเตอรี่ชนิดนี้มีความปลอดภัยสูงไม่เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟ สามารถอัดประจุได้อย่างรวดเร็วในระดับไม่กี่วินาที มีความเสถียรสูงมากสามารถอัดและคายประจุได้มากกว่า 7,500 รอบ ให้กำลังไฟฟ้าสูงประมาณ 3,000 W/kg ซึ่งเทียบเท่ากับตัวเก็บประจุยิ่งยวด และยังสามารถให้ค่าความหนาแน่นพลังงานในระดับ40 Wh/kg (M. -C. Lin et al., 2015) ด้วยข้อดีทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้แบตเตอรี่ชนิด Al-ion มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ในอนาคตและเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของโครงการวิจัยนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit