ผศ.ดร.ศิศิธร นาคทอง รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า "โครงการ 3 ประสาน พัฒนาวิสาหกิจชุมชน" เป็นความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ธุรกิจสุกรภาคอีสานโดยโรงชำแหละทรายมูลของซีพีเอฟ และเทศบาลตำบลทรายมูล จากการที่ซีพีเอฟประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อนำความรู้จากงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม ด้วยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัย จากเนื้อสุกรที่เป็นวัตถุดิบของซีพีเอฟ ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ได้เนื้อสุกรที่ปลอดภัยไม่มีสารเร่งเนื้อแดงและไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง โครงการนี้ถือเป็นการนำงานวิจัยมาปฏิบัติจริง ที่สำคัญการเข้าสู่กระบวนการฝึกอบรมและได้ลงมือทำด้วยตนเอง จะทำให้ชาวชุมชนเข้าใจและสามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้ ขณะเดียวกัน อาจจะได้โครงการวิจัยกลับมาจากกระบวนการคิดหรือกระบวนการปฏิบัตินี้
"โครงการนี้จึงช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารจากการที่ชุมชนได้บริโภคอาหารปลอดภัย สร้างความมั่นคงด้านรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดโครงการไปได้อีก เช่นการปรับปรุงห้องแปรรูปให้ได้มาตรฐาน การสร้างแบรนด์ การทำคิวอาร์โค้ดผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางคณะพร้อมให้การสนับสนุนชุมชนต่อไป" ผศ.ดร.ศิศิธร กล่าว
ด้าน นายมานิต ทองบ่อนายกเทศมนตรีตำบลทรายมูล กล่าวว่า ชาวตำบลทรายมูลประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการทำนา-ทำสวนเป็นอาชีพหลัก ซีพีเอฟเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวทรายมูล ด้วยการจ้างงานให้เป็นบุคลากรของโรงงานชำแหละสุกรของบริษัท และยังได้จัดโครงการดีๆเช่นนี้ ให้กับชาวทรายมูล เพื่อให้เป็นโครงการต้นแบบแก่กลุ่มอื่นๆ โดยตลอดการอบรมได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบสำหรับฝึกฝนจากบริษัท ซึ่งดำเนินกิจการโรงชำแหละสุกรในตำบลทรายมูล จึงถือว่าเป็นสมาชิกในชุมชนเช่นกัน
"การส่งเสริมอาชีพแก่กลุ่มแม่บ้านเทศบาลตำบลทรายมูลในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าซีพีเอฟเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่ชุมชน ขณะเดียวกันทุกคนยังได้รับความรู้และการฝึกลงมือปฏิบัติจริงจากอาจารย์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ขอขอบคุณซีพีเอฟ อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และชาวชุมชนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้" นายกเทศมนตรีต.ทรายมูล กล่าว
ขณะที่ นายสัตวแพทย์จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่า "โครงการ 3 ประสาน พัฒนาวิสาหกิจชุมชน" ภายใต้โครงการเถ้าแก่กลาง : LDP1 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยโรงชำแหละทรายมูลของซีพีเอฟ สนันสนุนวัตถุดิบที่ใช้ในช่วงฝึกอบรม อาทิ เนื้อสุกร ไส้ หนัง โดยจะแปรรูปเป็น แคบหมู ลูกชิ้นหมู ไส้กรอกอีสาน ไส้กรอกเยอรมัน ที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปสุกร 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เกิดเป็นอาชีพและรายได้เสริมให้กับชาวชุมชน และเป็นการสร้างความสามัคคีให้กับชุมชนด้วย
"โครงการ 3 ประสานฯ เป็นการต่อยอดความสำเร็จของธุรกิจการผลิตเนื้อสุกรที่สะอาดปลอดภัย เพื่อส่งมอบถึงมือผู้บริโภคอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ในร้านเถ้าแก่เล็กโครงการเถ้าแก่เล็กฯ CP PORK SHOP ซึ่งกลายเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ขณะเดียวกันเถ้าแก่เล็กฯยังสามารถนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ซีพีเอฟจึงจัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อขยายอาชีพที่ยังยืนให้กับชุมชน และส่งมอบอาหารแปรรูปที่ปลอดภัยแก่คนในชุมชน" น.สพ.จตุรงค์ กล่าวทิ้งท้าย