ก.แรงงาน
พัฒนากำลังคนโรงแรมและรีสอร์ท สุราษฎร์ธานีจัดติว 20 รุ่น 400 คน เติมศักยภาพท่องเที่ยวและบริการนายสุทธิ
สุโกศล อธิบดี
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล
ตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิง
แก้ว รัฐมนตรีว่า
การกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้กพร. เร่งพัฒนาศักยภาพแรงงาน รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และศาสนาที่หลากหลาย เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน หมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติแห่งชาติเขาสก เขื่อนเชี่ยวหลาน พระบรมธาตุไชยา เป็นต้น ซึ่งกลายเป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 5,465,520 คน ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดได้เป็นอย่างดี โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะขึ้นอยู่กับสาขาท่องเที่ยวและบริการร้อยละ 12.3 และสาขาบริการอื่นๆ ร้อยละ 19.3 แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในจังหวัด มักจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) กพร. จึงมอบหมายสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี (สพร.11สุราษฎร์ธานี) ดำเนิน "โครงการบ่มเพาะบุคลากรเพื่อการท่องเที่ยว" เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ป้อนสู่ตลาดธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่าโครงการจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เริ่มต้นตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 ไปจนถึง 30 กันยายน 2561 จะใช้แนวทางประชารัฐในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัด จัดฝึกอบรมจำนวน 7 หลักสูตร 20 รุ่น ดังนี้ (1) หลักสูตรพนักงานแม่บ้านโรงแรม จำนวน 3 รุ่น (2) หลักสูตรพนักงานบริการอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 3 รุ่น (3) หลักสูตรพนักงานผสมเครื่องดื่ม (4) หลักสูตรผู้ประกอบอาหารไทย จำนวน 3 รุ่น (5) หลักสูตรพนักงานต้อนรับส่วนหน้า จำนวน 3 รุ่น (6) หลักสูตรสปาเพื่อสุขภาพ จำนวน 3 รุ่น และ (7) หลักสูตรช่างซ่อมบำรุง จำนวน 2 รุ่น ในแต่ละรุ่นจะมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น 400 คน ทุกหลักสูตรจะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 240 ชั่วโมง จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และสร้างสถานการณ์จำลองในการทำงานต่างๆ โดยผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการที่พักโรงแรม และรีสอร์ทได้ทันที จะเน้นกลุ่มเป้าหมายคนทำงานในสถานประกอบกิจการ แรงงานใหม่ แรงงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ผู้ว่างงาน นักศึกษาปีสุดท้าย
"การดำเนินโครงการนี้จะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย สถานประกอบกิจการจะมีพนักงานที่มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจของจังหวัดได้รับการกระตุ้นให้ดียิ่งขึ้น และโครงการนี้จะเป็นโมเดลสำคัญในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย" อธิบดีกพร.กล่าว