ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนรอบล่าสุดว่า การตอบโต้และการกีดกันทางการค้าของสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกโดยรวมได้รับผลกระทบ ทำให้การฟื้นตัวและขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของปริมาณการค้าโลกเกิดการสะดุดได้ โดยจะส่งผลต่อปริมาณการค้าของสินค้า 932 รายการในตลาดโลก จะทำให้ราคาสินค้ากลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน้อย 25 % ตามภาษีนำเข้าและจะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปโดยเฉพาะสินค้าที่มีใช้สินค้ากลุ่ม 932 รายการเป็นวัตถุดิบหรือองค์ประกอบ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นจากสงครามกีดกันทางการค้า ตลาดการเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะมีมูลค่าลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ผู้บริโภคทั้งในจีนสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกต้องซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าไอทีแพงขึ้น คาดว่าสงครามการค้าจะมีความยืดเยื้อเพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมากกว่าปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯต่อจีน โดยปีที่แล้วสหรัฐฯขาดดุลกับจีนสูงถึง 3.7 แสนล้านดอลลาร์ ปัญหาทางการค้าล่าสุดเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่ขัดกัน โดยจีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงภายใต้ยุทธศาสตร์ Made in China 2025 สหรัฐฯกล่าวหาว่า จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าเทคโนโลยีซึ่งจีนต้องการพัฒนาขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางการค้านี้จะจบลงด้วยการเจรจากันเนื่องจากเศรษฐกิจทั้งสองประเทศจะได้รับความเสียหายทั้งคู่ และ การว่างงานอาจเพิ่มขึ้น แต่กระบวนการการเจรจาอาจใช้เวลามากจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนสูง จีนได้มีการตอบโต้กันอย่างทันทีทันใดโดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในระดับเดียวกัน มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า 25% ของมูลค่าสินค้านำเข้า 34,000 ล้านดอลลาร์จากเป้าหมายของมาตรการที่ 50,000 ล้านดอลลาร์
กรณีสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน มาตรการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งซอฟต์แวร์ สิทธิบัตร และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่สร้างความระหองระแหงระหว่างสหรัฐฯ และจีนเรื่อยมา โดยสินค้าที่อยู่ในรายการเก็บภาษีเพิ่มส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสื่อสารและสารสนเทศ การบินและอวกาศ เครื่องจักร เครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์การเรียนการสอน
ขณะที่ จีนใช้วิธีตอบโต้ไปที่รายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวในการทางการเมืองสูง อย่าง สินค้าเกษตรโดยเฉพาะถั่วเหลือง สินค้ายานยนต์โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองไปยังกระบวนการตัดสินใจนโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า "หากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐฯโดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกไม่น้อยโดยเฉพาะตลาดปริวรรตเงินตราจะมีความผันผวนสูง ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการถือครองมีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่นับจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯโดยรัฐบาลจีนล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่อง
จีนสามารถเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นไป หรือ ควบคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก
ก่อนหน้านี้ จีนและสหรัฐฯได้ตอบโต้ทางการค้าไปแล้วรอบหนึ่ง โดยสหรัฐฯมีการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน 25% และ 10% ตามลำดับ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อลดช่องว่างการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยในปีที่แล้ว จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 5.05 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่สหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปจีนเพียง 1.35 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนจีนได้ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยมาตรการเก็บภาษีสินค้านำเข้ารวม 148 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ในจำนวนนี้รวมถึงปรับขึ้นอากรขาเข้าเนื้อหมูแช่แข็งและอะลูมิเนียมที่อัตรา 25% ขณะที่จีนเป็นตลาดส่งออกเนื้อหมูใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้กล่าวอีกว่า ภาคส่งออกไทยคงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ เพราะไทยมีสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญปัญหาสินค้าบางชนิดไหลทะลักเข้า เนื่องจากประเทศต้นทางต้องการระบายสินค้า แต่ไทยก็อาจได้ประโยชน์จากการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของจีน หรือได้ประโยชน์ในกรณีที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ได้กล่าวถึง ข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนว่า
ข้อหนึ่ง ขอให้เตรียมความพร้อมในการรับมือสินค้าทุ่มตลาดจากจีนเนื่องจากส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง
ข้อสอง ขอให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าและบริการต่างๆของไทยอย่างละเอียดทั้งสินค้าประเภทวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง สินค้าสำเร็จรูป ประเมินผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
ข้อสาม แสวงหาโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดจีนและตลาดสหรัฐอเมริกา ในสินค้าที่สหรัฐฯและจีนตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีต่อกันและเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ โดยคาดว่า ไทยน่าจะส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนได้มากขึ้น
ข้อสี่ ขอให้ศึกษาผลกระทบต่อกลุ่มสินค้า 932 รายการที่ไทยส่งออกและนำเข้า โดยสินค้าเหล่านี้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีการตอบโต้ทางการค้ากันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาโดยปรับเพิ่มภาษีนำเข้า 25% นอกจากนี้สินค้าที่อยู่ในข่ายที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารอบนี้มีอยู่ทั้งหมด 1,759 รายการที่ส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกสินค้าขั้นกลางในห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit