ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขณะที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบนโยบายการทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ระดับฐานราก และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความเป็น Thailand 4.0 ต่อไป
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) และเครือข่ายความร่วมมือ อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมการพัฒนาชุมชน บริษัทประชารัฐรักสามัคคี และสถาบันการศึกษาต่างๆ ดำเนินโครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดพื้นที่เป้าหมาย และโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร เพื่อสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ และรายได้ให้ประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นนวัตกรรมเพื่อชุมชน โดยมุ่งเน้นไปที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1.พัฒนาการเกษตร ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่ม และ 2.พัฒนาผู้ประกอบการโอทอปให้สามารถนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปยกระดับสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. มุ่งหวังให้ทั้งสองโครงการ เป็นเครื่องมือนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกรทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ประกอบการโอทอปใน 10 จังหวัดเป้าหมาย ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมดังกล่าวไปแล้ว 2 จังหวัด คือ จ.น่าน และ จ.บุรีรัมย์ ภายใต้ชื่องาน "มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค" และครั้งที่ 3 ที่ จ.อำนาจเจริญ ณ หอประชุมพญานาครินทร์ ศาลากลางจังหวัด ในระหว่างวันที่ 15–16 มิถุนายน 2561 โดยได้รับเกียรติจากนายอภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน นายวิชยันต์ บูรณะกิจภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และคณะผู้บริหารของหน่วยงานเครือข่าย ร่วมเป็นเกียรติในงาน
สำหรับการจัดงาน "มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค" ในแต่ละจังหวัดทั้งที่ผ่านมาแล้ว และกำลังจะจัดต่อเนื่องไปนั้น ถือเป็นการเปิดตัวโครงการให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโอทอปในแต่จังหวัดได้รับรู้ ตระหนักและตื่นตัวในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ปัญหาการผลิต และยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยภายหลังการจัดงาน นักวิจัยจาก วว. และ วศ. รวมทั้งสถาบันการศึกษาเครือข่ายในพื้นที่ ลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการโอทอปแบบรายต่อราย กลุ่มต่อกลุ่ม ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ทั้งนี้สำหรับกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วันของการจัดงาน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การเสวนาและบรรยายความรู้หัวข้อต่างๆ อาทิ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่เกษตรอัจฉริยะ การยกระดับผู้ประกอบการ OTOP และการยกระดับการเกษตร ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม 2.การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ OTOP หลักสูตรต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเห็ดหลินจือและเห็ดเผาะ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง การฝึกปฎิบัติออกแบบบรรจุภัณฑ์ การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ความรู้พื้นฐานและเทคนิคการเตรียมสถานที่ผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด อย. รวมถึงเรื่องการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวผลไม้และการตรวจสอบความแก่ของทุเรียนที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ในขณะนี้ เป็นต้น
ขณะเดียวกันภายในงานยังมีพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม เรื่อง "การพัฒนาเกษตรกร ผู้ประกอบการโอทอป และระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร" โดยทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมกันสร้างและพัฒนา บุคลากร เครื่องมือ ระบบ และกลไกแบบครบวงจร ในการผลิตพืชปลอดภัย พัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และงานวิจัย ให้รองรับและตรงต่อสภาพปัญหาของอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุตสาหกรรมยาในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตพืชปลอดภัย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิง อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุตสาหกรรมยา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงปฏิบัติการในการผลิตวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่ ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอุตสาหกรรมยา ให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่ม SMEs โดยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มผลิตภาพ และผลิตผลอย่างมีระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และแบบบูรณาการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสมุนไพร โดยความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี
"วว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัด 'มหกรรมวิทย์สร้างอาชีพ ยกระดับภูมิภาค' ครั้งที่ 3 ในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปูทางให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอทอป และเกษตรกรในพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังจะเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ระหว่างหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สถาบันการศึกษา และภาคีความร่วมมือต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ของผู้ประกอบการโอทอปและเกษตรกร เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไป" ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุปในตอนท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit