ด้วยโอกาสอันดีครบรอบ ๘๕ ปี ศาลาเฉลิมกรุง โรงมหรสพหลวงพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงมหรสพแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดของเอเชียในยุคนั้น และพระราชทานนาม "ศาลาเฉลิมกรุง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการเฉลิมฉลองกรุงเทพมหานคร ๑๕๐ ปี เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ณ วันนี้ ๘๕ ปี ศาลาเฉลิมกรุงยังคงยืนหยัดอย่างสง่างาม ผ่านวันเวลาหลายยุคหลายสมัย ด้วยบทบาทอันหนักแน่นมั่นคง รองรับผู้คนด้วยความบันเทิงครบทุกรูปแบบ โดยยึดมั่นในการอนุรักษ์ สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำที่มีคุณค่าของปวงชนชาวไทย
เฉลิมฉลองเฉลิมกรุง ๘๕ ปี ... มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จัดการแสดงละครพันทาง เรื่อง "ราชาธิราช ตอน สมิงพระรามอาสา" ขึ้น ในวันเสาร์ที่ ๗ – วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง นำเสนอละครพันทาง เรื่อง "ราชาธิราช" วรรณคดีจากพงศาวดารที่ได้รับความนิยมอย่างสูงและเคยเปิดการแสดงที่มีผู้ชมมากมายถึง ๑๑๐ รอบ ในปี ๒๔๙๕ นำกลับมาย้อนอดีตให้ชมกันอีกครั้ง...ด้วยฝีมือการกำกับการแสดงของ ผศ.กฤษณา (บัวสรวง) ภักดีเทวา ผู้รับบทบาทกามนี ในปี ๒๔๙๕
นอกจากเป็นละครที่ให้ข้อคิดครบทุกอรรถรส ความรัก ความจริงใจ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดี ความกล้าหาญและความมีคุณธรรมประจำใจ การแสดงชุดนี้มีความสง่างามของ...กระบวนท่ารำ...กระบวนท่ารบ...ระหว่างทัพพม่าและทัพจีนที่หาชมยากยิ่ง ถ่ายทอดโดยนักแสดงชั้นนำมากฝีมือที่ได้รับการฝึกสอนและถ่ายทอดกระบวน ท่ารำจากผู้เชี่ยวชาญแห่งวงการนาฏศิลป์ไทย ฝ่ายกองทัพพม่า นำแสดงโดย พระเจ้าอังวะ : อิสระ ขาวละเอียด / วีรกร ศุขศาสตร์ สมิงพระราม : ภูกิจ พาสุนันท์ / ภุมรินทร์ มณีวงษ์ พระมเหสี : ผศ.พิมณภัทร์ ถมังรักษ์สัตว์ / พัชรินทร์ จันทรัดทัต พระราชธิดา : ฑิตฐิตา ปลั่งพงษ์พันธ์ ฝ่ายกองทัพจีน นำแสดงโดย พระเจ้ากรุงจีน : พหลยุทธ กนิษฐบุตร กามนี : จักราวุธ คงฟู / ปณต ปานสมุทร์ โจเปียว : จตุพร ภักดี ร่วมด้วย นักแสดง ผู้บรรเลงและผู้ขับร้องจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
ละครพันทาง เรื่องราชาธิราช เดิมเป็นวรรณคดีกล่าวถึงการทำสงครามระหว่างพม่ากับมอญ ต้นฉบับเป็นภาษามอญ ด้วยเนื้อเรื่องมีความสนุกน่าสนใจ และให้ข้อคิดมากมายจึงได้มีนักปราชญ์ชาวไทยแปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยตั้งแต่ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้าย ภายหลังสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลและเรียบเรียงเป็นร้อยแก้วให้เรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์อีกครั้งโดยเจ้าพระยา พระคลัง(หน) และนำมาแต่งเป็นบทสำหรับแสดงละครพันทางโดย หลวงพัฒนพงษ์ ภักดี(ทิม สุขยางค์) ตั้งแต่สมัยเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ซึ่งนับว่าเป็นต้นฉบับสำหรับใช้แสดงละครพันทางเรื่องราชาธิราช จนถึงยุคที่กรมศิลปากรเปิดการแสดงละครพันทางเรื่อง ราชาธิราช ตอนศึกกามนี ให้ประชาชนชมโดยมีครูละครที่เป็นตัวแสดงเอกจาก คณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง คณะละครเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ คณะละครวังสวนกุหลาบและคณะละครพระองค์เจ้าวชิรวงศ์ ร่วมกันฝึกซ้อม อาทิ ครูผัน โมรากุล ครูสะอาด แสงสว่าง ครูลมุล ยมะคุปต์ ครูเจริญจิต ภัทรเสวี เป็นต้น
ละครพันทาง เรื่อง "ราชาธิราช" ตอนสมิงพระรามอาสา เป็นการถ่ายทอดกระบวนท่ารำไม้บู๊ของกามนี ซึ่งมีความสง่างามของกระบวนท่ารำ โดยครูละครทางนาฏศิลป์ไทยที่ได้รับการถ่ายทอดจากครูงิ้วหลวงวังหน้าใน กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมา ครูผัน โมรากุล ได้รับการถ่ายทอดจากหม่อมครูเครือ เครือสุวรรณ ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นผู้รับบทบาทกามนีในคณะละครเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง และสืบทอดสู่การแสดงของกรมศิลปากร โดยผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดบทบาทกามนีจาก ครูผัน โมรากุล ในครั้งนั้นคือ ชูวงศ์ ดุริยประณีต และ กฤษณา ภักดีเทวา (ละม่อม บัวสรวง) ด้วยเจตนารมย์และความตั้งใจของผู้กำกับการแสดงที่เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดท่ารำมา ต้องการให้มีผู้สืบทอดท่ารำอย่างถูกต้องตามจารีตแบบแผน ในโอกาสเฉลิมฉลองเฉลิมกรุง ๘๕ ปี มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด จึงร่วมสานต่อเจตนารมย์ของผู้กำกับและผู้เชี่ยวชาญทางด้านนาฏศิลป์ไทยและนักแสดง จัดการแสดงละครครั้งนี้ขึ้น เพื่อเก็บบันทึกภาพท่ารำครบทุกกระบวนท่า นำเข้า "ศูนย์รักษ์ศิลป์" ซึ่งตั้งอยู่ ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจได้ศึกษาและเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาทางด้านนาฏศิลป์ไทยสืบต่อไป
ละครพันทาง เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสา ที่นำมาจัดแสดงในโอกาสพิเศษครั้งนี้ ดำเนินเรื่องเริ่มจาก พระเจ้ากรุงต้าฉิงแห่งประเทศจีน ยกทัพมาล้อมกรุงอังวะ ต้องการให้พระเจ้ามณเฑียรทอง ออกไปถวายบังคม และขอให้ส่งทหารออกมาขี่ม้ารำทวนต่อสู้กันตัวต่อตัวกับกามนีทหารเอกของเมืองจีน ถ้าฝ่ายกรุงรัตนบุระอังวะแพ้ ต้องยกเมืองให้ฝ่ายจีน แต่ถ้าฝ่ายจีนแพ้จะยกทัพกลับทันทีพระเจ้ากรุง อังวะประกาศหาผู้ที่จะอาสาออกไปรบกับ กามนี หากสามารถรบชนะกามนีทหารเอกของเมืองจีน จะแต่งตั้งให้เป็นพระมหาอุปราชและแบ่งสมบัติให้กึ่งหนึ่ง เมื่อสมิงพระรามที่ติดคุกอยู่ในเมืองอังวะทราบข่าวก็คิดตรึกตรองว่า หากจีนชนะศึกครั้งนี้ จีนคงยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีของตนต่อไปแน่ จึงรับอาสาออกรบและได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้
เต็มอิ่มกับอรรถรสของละครพันทางเรื่องยิ่งใหญ่ที่หาชมยากยิ่ง ชมเรื่องราวความพิเศษของ "ราชาธิราช" ตอน สมิงพระรามอาสา ในวันเสาร์ที่ ๗ – วันอาทิตย์ที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง บัตรราคา ๗๐๐ บาท และ ๑,๐๐๐ บาท / นักเรียนและนักศึกษา ราคา ๓๐๐ บาท จำหน่ายบัตรที่ ศาลาเฉลิมกรุงโทร. ๐-๒๒๒๕-๘๗๕๗-๘, ๐-๒๖๒๓-๘๑๔๘-๙ และไทยทิคเก็ตเมเจอร์ โทร. ๐-๒๒๖๒-๓๔๕๖ www.thaiticketmajor.com
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit