นายเอนก บุญหนุน ประธานบริหารโครงการการศึกษา ของซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ สนับสนุนนโยบายขับเคลื่อนการศึกษายั่งยืนของรัฐบาล โดยเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School Project ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม และภาคส่วนต่างๆ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการโครงการบริหารสถานศึกษา ประกอบด้วยภาคเอกชน , ภาคประชาสังคม , สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ,ผู้ปกครองและครู เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนในต่างจังหวัด เช่น การกำหนดหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะกับความต้องการของชุมชน การพัฒนาครู การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน ฯลฯ โดยยึดตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ผสานกับหลักสูตรที่ร่วมกันออกแบบในสัดส่วน 70: 30
"โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นโครงการที่เพิ่มบทบาทชุมชนและเอกชนในท้องถิ่น เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับการศึกษาของประเทศอย่างเป็นระบบ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีภาคเอกชนเข้าไปสนับสนุนในด้านต่างๆที่โรงเรียนและชุมชนไม่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้หลักสูตรใหม่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง" นายเอนก กล่าว
ซีพีเอฟได้นำเสนอรายชื่อโรงเรียนและได้รับการพิจารณาเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และ โรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา โดยทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนในโครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (คอนเน็กซ์ อีดี) ภายใต้ความรับผิดชอบของซีพีเอฟ
โรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา (โคกศิลา) ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียน 232 คน ครู 15 คน เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ ชั้นอนุบาล1 - มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนมีความโดดเด่นด้านความพร้อมของผู้บริหารและการจัดทำ"โครงการศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าพัฒนาคุณภาพชีวิต" เป็นโครงการที่สร้างกระบวนการเรียนรู้แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการทำก้อนเชื้อเห็ด การเพาะเห็ดในโรงเรือน จำหน่ายผลผลิตเห็ดสด จนถึงการแปรรูปเห็ด ช่วยสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
นายเมธี คอบตะขบ ผู้อำนวยการโรงเรียนธงชัยเหนือวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนฯ ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มาจากปัจจัยหลายด้านของโรงเรียนและชุมชนประกอบกัน ทั้งเรื่องของความเป็นผู้นำของผู้บริหารที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมคิดร่วมตัดสินใจ ลงมือทำและรับผิดชอบร่วมกัน ความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงเรียน การมีส่วนร่วมของครูในโรงเรียนและศักยภาพในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เป็นต้น
ด้านโรงเรียนชุมชนบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนนักเรียน 232 คน ครู และบุคลากร 19 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งโรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่เฝ้าระวังการกระจายของยาเสพติดหลายชนิด จึงเน้นทำกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดกับนักเรียนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา และพัฒนาด้านวิชาชีพให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้น เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทั้งด้านคุณภาพการศึกษาและพัฒนาด้านวิชาชีพโดยการเชิญภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างครบวงจร เช่น โครงการปลูกฟักข้าวเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีพ ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน แปลงเพาะชำ การปลูก จนไปถึงการแปรรูปฟักข้าว ซึ่งทุกกระบวนการมุ่งเน้นการสร้างทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนนำไปใช้ในครอบครัวได้
นายธนยศ ปะเสทะกัง ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวัด กล่าวว่า โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา มีเป้าหมายสู่การพัฒนาเป็นโรงเรียนที่ดี มีคุณภาพ สามารถยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิตในด้านต่าง ๆ ของนักเรียน ทั้งด้านองค์ความรู้ การศึกษาและวิชาชีพต่าง ๆ ให้สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นตัวนักเรียนเป็นตัวตั้งในทุก ๆ กิจกรรม ซึ่งนอกจากให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการที่มีหน่วยงานภาครัฐ และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรแล้ว จะเน้นฝึกทักษะอาชีพแก่นักเรียนด้วยการใช้ประสบการณ์จากภูมิปัญญาท้องถื่นในชุมชนเข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่นักเรียน และผนวกกับความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆของภาคเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนอย่างบูรณาการ เพื่อเป็นการฝึกอาชีพเฉพาะด้านให้ติดตัวนักเรียนนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit