นายพรชัยฯ กล่าวโดยสรุปว่า "การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมายังคงสูงกว่าประมาณการ และเป็นไปตามที่กระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ นอกจากนี้ การขยายตัวในระดับสูงของมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณต่อไป"
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561) และเดือนพฤษภาคม 2561
1. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 – พฤษภาคม 2561)
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,571,788 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 60,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.7) โดยการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าประมาณการ 28,887 และ 25,629 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.7 และ 25.6 ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
1.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,131,629 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 10,811 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.3) เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 17,951 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.3 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.8) อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 10,816 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 44.0) เนื่องจากมีการชำระภาษีเงินได้ปิโตรเลียมย้อนหลัง และผลประกอบการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันปรับตัวดีขึ้น
1.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 371,693 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,270 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.3) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีน้ำมันฯ ภาษีเบียร์ และภาษีสุราฯ จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,920 7,850 และ 2,620 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.4 14.0 และ 6.2 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณน้ำมัน เบียร์ และสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ดี ภาษีรถยนต์และภาษียาสูบ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,903 และ 4,307 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.3 และ 10.1 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณรถยนต์ที่ชำระภาษีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่ยังขยายตัวได้ดี และภาระภาษีต่อซองของยาสูบหลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สูงกว่าที่ประมาณการไว้
1.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 72,874 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.4) โดยเป็นผลจากการจัดเก็บอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการจำนวน 1,657 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.5) เนื่องจากการนำเข้าสินค้าที่ใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ขยายตัวตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และในรูปเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.1 และ 6.6 ตามลำดับ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าในช่วง 7 เดือนแรกได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ยานบกและส่วนประกอบ (2) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (3) เครื่องจักรและเครื่องใช้กล (4) ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม และ (5) พลาสติกและสินค้าจากพลาสติก
1.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 125,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 25,629 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.2) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) บมจ. ปตท. (3) ธนาคารออมสิน (4) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และ (5) บมจ. ท่าอากาศยานไทย เนื่องจากผลประกอบการขยายตัวดี
1.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 141,198 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 28,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ20.9) เนื่องจากการรับรู้ส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตร (Premium) เป็นรายได้แผ่นดิน การนำส่งรายได้ของสำนักงาน กสทช. และการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดินสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,859 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 597 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.9) โดยรายได้ด้านเหรียญกษาปณ์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นสำคัญ
1.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 198,102 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,314 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.7 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 148,031 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 22,569 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.2 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 50,071 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,255 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6
1.7 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 9,161 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,161 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.9
1.8 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 11,104 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 897 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.5
1.9 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,239 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,380 ล้านบาท หรือร้อยละ 37.7 ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.5 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา
1.10 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 - 5 จำนวน 45,931 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2
2. เดือนพฤษภาคม 2561
รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 275,188 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,284 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.8) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ต่ำกว่าประมาณการ 4,815 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.5 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 50.6) เนื่องจากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้นำส่งรายได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 จากที่ประมาณการไว้ว่าจะส่งในเดือนพฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการ 5,542 ล้านบาท หรือร้อยละ 117.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 69.0) เนื่องจากสำนักงาน กสทช. นำส่งรายได้จากผลประกอบการในส่วนที่ได้รับสัมปทานของ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นสำคัญ
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3573