รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคม ปี 2561

28 Jun 2018
"เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี สูงสุดในรอบ 13 เดือน ทำให้คาดว่าการบริโภคในระดับฐานรากจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต"

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤษภาคมปี 2561 ว่า "เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัว ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี สูงสุดในรอบ 13 เดือน ทำให้คาดว่าการบริโภคในระดับฐานรากจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคต" โดยมีรายละเอียดสรุป ได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2561 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 26.8 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 นับตั้งแต่ต้นปี 2560 สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.9

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤษภาคม 2561 ขยายตัวได้ดีอย่างชัดเจนสะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักร ที่วัดจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 28.6 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.3 ต่อปี ขณะที่ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ขยายตัวร้อยละ 8.1 ต่อปี นับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 59 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2556 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี นอกจากนี้ ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.1 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 3.8 ต่อปี ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือน นับจากเดือนตุลาคม 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ที่สูงขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อปี และดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นร้อยละ 13.0 ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม 2561 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 และเป็นการขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 11.4 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในตลาดสำคัญเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และกลุ่ม CLMV ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและขยายตัวในระดับ 2 หลัก ทั้งนี้ สินค้าที่สนับสนุนการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง ยานพาหนะ และอุตสาหกรรมเกษตร ที่ขยายตัวร้อยละ 34.9 21.1 และ 3.5 ต่อปีตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 21.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.7 ต่อปี โดยสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เชื้อเพลิง วัตถุดิบ และสินค้าทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2561 กลับมาเกินดุลจำนวน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในเดือนพฤษภาคม 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมและรายได้เกษตรกรที่แท้จริงที่ขยายตัวได้ดี นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.0 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในหมวดพืชผลสำคัญ หมวดปศุสัตว์ และหมวดประมง ที่ขยายตัวร้อยละ 22.3 0.6 และ 22.6 ตามลำดับ สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 2.76 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.4 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นสำคัญ ในขณะที่ นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง อินเดีย และลาว เป็นต้น และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศมูลค่า 136,710 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.0 ต่อปี ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 9.0 ต่อปี ซึ่งถือเป็นขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือนเมษายน 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 33.7 ต่อปี โดยเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นในเกษตรกรบางกลุ่ม ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจภายในประเทศและภาคการส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมขยายตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 16 เดือน โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 13 เดือน นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 โดยการเพิ่มขึ้นมีที่มาสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.0 แสนคน คิดเป็นอัตราว่างงานที่ต่ำสุดในปี 2561 ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 212.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.6 เท่า