ไทยคม ประกาศความสำเร็จจับมือ ดับเบิลยูไอที ให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศฟิลิปปินส์

03 May 2018
วี อาร์ ไอที ฟิลิปปินส์ (ดับเบิลยูไอที) ตกลงเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ของไอพีสตาร์ ทั้งในรูปแบบของ Spot beam และ Broadcast beam เพื่อให้บริการในประเทศฟิลิปปินส์
ไทยคม ประกาศความสำเร็จจับมือ ดับเบิลยูไอที ให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศฟิลิปปินส์

ทั้งสองบริษัท ได้ลงนามในสัญญาเช่าใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศฟิลิปปินส์ ในการให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอด-แบนด์ศักยภาพสูงในโครงการต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ

บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจดาวเทียมและแพลตฟอร์มดิจิทัลชั้นนำแห่งเอเชีย ประกาศความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงในการให้บริการสัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์กับ บริษัท วี อาร์ ไอที ฟิลิปปินส์ จำกัด (ดับเบิลยูไอที) ผู้นำการให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัญญาเช่าใช้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมทั้งหมดที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อให้บริการเชื่อมต่อสัญญาณบรอดแบนด์ สำหรับโครงการของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศฟิลิปปินส์

ภายใต้ข้อตกลงเพื่อใช้บริการดังกล่าว ดับเบิลยูไอที จะใช้สัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ศักยภาพสูงของไอพีสตาร์ทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งในรูปแบบ Spot beam และ Broadcast beam เพื่อให้บริการในประเทศฟิลิปปินส์ ข้อตกลงนี้ ยังจะช่วยให้ ดับเบิลยูไอที สามารถให้บริการเชื่อมต่อการสื่อสาร โดยใช้สัญญาณดาวเทียมบรอดแบนด์ของไอพีสตาร์ ที่มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในฟิลิปปินส์ รวมถึงผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และผู้ประกอบการทางทะเลอีกด้วย

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไทยคม กล่าวว่า "ผมขอขอบคุณ ดับเบิลยูไอที ที่ให้ความไว้วางใจเลือกใช้บริการสัญญาณดาวเทียมของเรา ฟิลิปปินส์ถือเป็นตลาดที่สมบูรณ์แบบ และมีความเหมาะสมอยางสูงสุดในการใช้บริการสัญญาณดาวเทียม เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการกระจายตัว ทั้งในด้านของประชากร และลักษณะของพื้นที่ที่เป็นเกาะอยู่จำนวนมาก ทำให้ดาวเทียมกลายเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อการสื่อสารที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง ผมรู้สึกยินดีที่ไทยคมได้มีส่วนช่วยสนับสนุนฟิลิปปินส์ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคแห่งดิจิทัล และด้วยความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลด้วยความเร็วสูงของไอพีสตาร์ จะช่วยเชื่อมต่อการสื่อสารโดยเฉพาะในพื้นที่ที่การสื่อสารยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวฟิลิปปินส์นับล้าน และช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่าความต้องการใช้งานดาวเทียมแบบบรอดแบรนด์ยังมีอยู่สูง และไทยคมยังสามารถใช้โอกาสนี้ ในการแสวงหารายได้เพิ่มเติมจากดาวเทียมที่มีอยู่ได้"

โจเซฟ มัดดาทู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดับเบิลยูไอที เปิดเผยว่า "ความต้องการใช้งานด้านการสื่อสารและการเชื่อมต่อข้อมูลในฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาครัฐและภาคเอกชน และการที่ดับเบิลยูไอที เป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับไทยคมมาอย่างยาวนานกว่า 10 ปี ช่วยสนับสนุนให้เราสามารถให้บริการภายในประเทศด้วยต้นทุนที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ และเรายังสามารถขยายการให้บริการเพื่อรองรับการดำเนินโครงการบรอดแบนด์ต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผลมาจากการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือเพื่อใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมกับไทยคม นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ยังส่งเสริมให้เราสามารถเข้าสนับสนุนโครงการบรอดแบนด์ของรัฐบาล เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารด้วยอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังพื้นที่ห่างไกล และยังช่วยสนับสนุนการให้บริการของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ในการขยายขอบเขตการให้บริการและเพิ่มขีดความสามารถในการรับส่งข้อมูลในโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย"

นายปฐมภพ สุวรรณศิริ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านการค้า บมจ. ไทยคม กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีความภูมิใจที่บริการของเรามีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารของบุคคล หน่วยงานภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน ด้วยบริการบรอดแบนด์ที่มีราคาเหมาะสมและเชื่อถือได้ ดับเบิลยูไอที ถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีของไทยคมมายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว และการบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นการเน้นย้ำในมิตรภาพ และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน ซึ่งไทยคมมีความเชื่อมั่นว่า การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นขั้นต่อไปในอนาคต ซึ่งด้วยศักยภาพในการให้บริการของ ดับเบิลยูไอที ทำให้ประเทศฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการเชื่อมต่อการสื่อสารด้วยความเร็วสูงถึง 1.5 Gbps ทั่วทั้งประเทศแล้วในขณะนี้"

HTML::image(