ทีเส็บมอบสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ 114 แห่ง เปิดมาตรฐานใหม่ประเมินสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) รับธุรกิจขยายตัว

04 May 2018
สถานที่จัดงานไมซ์ 114 แห่งในกรุงเทพฯ ไมซ์ซิตี้ และเมืองรอง รวม 349 ห้องทั่วประเทศ รับมอบสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ประจำปี 2561 ผู้ประกอบการชี้สร้างความเชื่อมั่นและดึงผู้จัดงานจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น ทีเส็บรุกต่อขยายการประเมินมาตรฐานสู่ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) รองรับการขยายตัวของธุรกิจ และความต้องการจัดงานในสถานที่แปลกใหม่ เพื่อยกระดับสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาชาติ และตอกย้ำการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงานที่หลากหลายแห่งภูมิภาค
ทีเส็บมอบสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ 114 แห่ง เปิดมาตรฐานใหม่ประเมินสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ (Special Event Venue) รับธุรกิจขยายตัว

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บมีนโยบายหลักที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยให้เติบโตทัดเทียมกับการแข่งขันของนานาประเทศ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้หลักของประเทศ โครงการมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อที่ที่ พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการด้านสถานที่จัดงานไมซ์ให้ได้มาตรฐานสากล เนื่องจากการมีมาตรฐานจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถือ และยืนยันความเป็นมืออาชีพของสถานที่จัดงานในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดึงงานและผู้จัดงานทั้งในและต่างประเทศเข้ามาจัดงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในการประเมินมาตรฐาน TMVS นั้น ทีเส็บ ให้ความสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของสถานที่และบริการ รวมถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS ที่ผ่านมาพบว่า การได้รับตราสัญลักษณ์ทำให้ลูกค้ากลุ่มเดิมมั่นใจในการบริการมากขึ้น เพิ่มลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าจากต่างประเทศ โดยตัวชี้วัดของมาตรฐาน TMVS สามารถนำมาเป็นตัวกำหนดการตรวจสอบเพื่อรักษามาตรฐานให้คงที่และมีคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ

ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่ผ่านการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทห้องประชุม เพิ่มขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 107 แห่ง 332 ห้อง แบ่งเป็น กลุ่มศูนย์ประชุม (Convention Center) จำนวน 46 ห้อง กลุ่มโรงแรมและ รีสอร์ท (Hotels/Resorts) จำนวน 265 ห้อง กลุ่มสถานที่ราชการและเอกชน (Public and Private Venue) จำนวน 21 ห้อง ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานคร เมืองไมซ์ซิตี้ และเมืองรอง เพื่อรักษาคุณภาพและการให้บริการ อาทิ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด / ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอก คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ / โรงแรมจอมเทียน ปาล์มบีช โฮเต็ลแอนด์รีสอร์ท (ชลบุรี) / โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ (ขอนแก่น) และโรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา (ภูเก็ต) เป็นต้น ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานจำนวน 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 - 2563หลังจากนั้นผู้ผ่านการรับรองจะต้องมาขอรับการประเมินใหม่อีกครั้ง

ส่วน ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า ที่ผ่านการประเมินประจำปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 7 แห่ง 17 ห้อง แบ่งเป็น ประเภทที่ 1 พื้นที่ขั้นต่ำขนาด 5,000 ตร.ม. จำนวน 6 แห่ง และประเภทที่ 2 พื้นที่ขั้นต่ำขนาด 1,000 ตร.ม. จำนวน 1 แห่ง ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพมหานคร เมืองไมซ์ซิตี้ ได้แก่ 1.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 2.พัทยา เอ็กซิบิชั่น 3.รอยัล พารากอน ฮอลล์ 4.โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ 5.ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค 6.ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี และ 7. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต

สำหรับแผนดำเนินงานในปีนี้ จะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การขยายความเป็นมาตรฐานสากลของสถานที่จัดงานไมซ์ไทย ด้วยการสานต่อ โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทห้องประชุม (Meeting room) และประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า (Exhibition Venue) ในเมืองไมซ์ซิตี้ทั้ง 5 แห่ง เริ่มจาก กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และขอนแก่น และเมืองรอง โดยร่วมมือกับ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยให้ได้รับมาตรฐานตามเกณฑ์มาตรฐานรองรับการจัดงานในระดับสากล และสามารถผ่านการประเมินให้ได้รับตราสัญลักษณ์รับรอง ส่วนที่สอง การเพิ่มประเภทการตรวจประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue)

"สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ คือ สถานที่จัดงานที่เกิดจากวาระโอกาสพิเศษ ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง ความเกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมหรือความเชื่อ เหตุผลเฉพาะบุคคลหรือองค์กร ซึ่งจัดขึ้นนอกเหนือจากกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ เฉลิมฉลอง สร้างความบันเทิงหรือสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมพิเศษเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่หลายภาคส่วนในพื้นที่ทั่วประเทศ อาทิ ผู้จัดงาน (Organizer) ธุรกิจที่มาร่วมงาน เจ้าของสถานที่จัดงาน บริการขนส่งสาธารณะ บริการสาธารณูปโภค และอีกมากมายที่ได้รับประโยชน์ โดยการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ จัดทำขึ้นเพื่อให้ความสำคัญกับสถานที่ที่สามารถรองรับการจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มองค์กรทั้งในและต่างประเทศได้ เช่น สวนสาธารณะ สวนรุกชาติ ชายหาด อุทยานแห่งชาติ สนามกีฬา โบราณสถาน ศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพเกิดการลงทุนก่อสร้าง หรือปรับปรุงสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษเพิ่มขึ้น และยังเป็นการขับเคลื่อนยกระดับให้อุตสาหกรรมไมซ์ไทยเติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคงต่อไป"

สถานที่จัดกิจกรรมพิเศษที่จะขอรับการตรวจประเมินนั้น จะต้องมีเจ้าของ หรือผู้รับผิดชอบบริหารจัดการโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีจุดรวมผู้ร่วมงาน (Holding Area) ที่ใช้ในกิจกรรมหลัก การแสดง จัดเลี้ยง หรือประกอบพิธีการที่สำคัญของงาน ที่มีขนาดที่ดินผืนเดียวกันต้องไม่น้อยกว่า 300 ตารางเมตร มีพื้นที่สนับสนุน (Supporting Area) ที่เจ้าของสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ จัดไว้เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมพิเศษ กำหนดเป็นสัดส่วน 3:1 ไม่รวมพื้นที่จอดยานพาหนะ ไม่เป็นสถานที่ในเขตที่ถูกทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่หรือบริเวณอันตราย ส่วนเกณฑ์การตรวจประเมินจะพิจารณาจากตัวชี้วัด 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านกายภาพ (Physical Component – P) ทั้งในส่วนของพื้นที่จุดรวมผู้ร่วมงาน พื้นที่สนับสนุน และสิ่งสนับสนุนต่างๆ 2) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security Component - SF) มีการเฝ้าระวัง การป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น ทั้งภัยจากการปฏิบัติงาน ภัยจากบุคคล ภัยก่อการร้าย และภัยธรรมชาติ 3) ด้านการสนับสนุน (Supporting Component – SP) มีการสนับสนุนและการให้บริการ ทั้งในด้านสถานที่ อุปกรณ์ ข้อมูล และบุคลากร และ 4) ด้านการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustainability Component – ST) มีความรับผิดชอบต่อสังคมการกระจายรายได้ และการรักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ประกอบการสถานที่จัดงานไมซ์ที่เข้าร่วมโครงการ TMVS จะได้รับ นอกเหนือจากการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการและสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังจะมีการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์และมาตรฐาน TMVS ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย พร้อมประชาสัมพันธ์รายชื่อสถานประกอบการโดยผลิตเอกสารส่งเสริมมาตรฐาน TMVS Directory ซึ่งจะได้รับการสื่อสารไปทั่วโลกในฐานะสถานที่จัดงานไมซ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ทีเส็บยังได้นำมาตรฐาน TMVS ไปพัฒนาต่อยอดเป็นมาตรฐาน ASEAN MICE Venue Standard (AMVS) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไมซ์ในตลาดโลก ส่งผลให้รองรับกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ด้านผู้ใช้บริการที่เลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TMVS และ AMVS นั้น จะเป็นการสร้างความมั่นใจด้านการบริการและคุณลักษณะทางกายภาพของสถานที่จัดงานที่มีมาตรฐาน สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับงานไมซ์ที่มาจัดในสถานที่นั้น ๆ ได้ต่อไป

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองสถานที่การจัดงานโครงการ TMVS รวมทั้งสิ้น 315 แห่ง 791 ห้องทั่วประเทศ ส่วนมาตรฐาน AMVS นั้นมีผู้ประกอบการไทย 13 รายที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าว ได้แก่ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค / โรงแรมชาเทรียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพ / โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ / โรงแรมเดอะ สุโกศล / โรงแรมรามาการ์เด้นส์ / โรงแรมอโนมาแกรนด์ กรุงเทพ / โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ / โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ กรุงเทพฯ สีลม / โรงแรมพูลแมน พัทยา จี / โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเตล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ / โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต และ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา

"สิ้นปีนี้ ทีเส็บตั้งเป้าหมายการดำเนินโครงการ TMVS ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ ประเภทห้องประชุม จำนวน 150 แห่ง (ต่ออายุ 100 แห่ง / รายใหม่ 50 แห่ง) ประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้า จำนวน 5 แห่ง และประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ จำนวน 20 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ แหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ สนามกีฬา และห้างสรรพสินค้า โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2562-2564" นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย

เกี่ยวกับโครงการ Thailand MICE Venue Standard (TMVS)

ทีเส็บได้ริเริ่มพัฒนาการดำเนินงานมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ไทย หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ โดยมี 3 กลุ่มเป้าหมายหลักที่ได้รับการส่งเสริมมาตรฐาน ได้แก่ กลุ่มศูนย์ประชุม กลุ่มโรงแรมหรือรีสอร์ท และและกลุ่มหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่อมาจึงได้เพิ่มประเภทสถานที่จัดงานแสดงสินค้าเข้าไปในหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานด้วย โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มกำหนดมาตรฐานเพื่อทำการตรวจประเมินสถานประกอบการไมซ์ และในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2559 ได้มีมติจากคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนให้ใช้เป็นมาตรฐานสถานที่จัดงานในระดับอาเซียน (ASEAN MICE Venue Standard) นับเป็นความสำเร็จที่ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับภูมิภาค

HTML::image( HTML::image( HTML::image(