ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานะทางธุรกิจของบริษัทที่เผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่รุนแรงและสถานะทางการเงินที่อาจจะอ่อนแอลงจากการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อให้มีปริมาณคลื่นความถี่ที่เพียงพอรวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพโครงข่ายอีกด้วยเช่นกัน
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ความกดดันเรื่องคลื่นความถี่ที่ผ่อนคลายลง
บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมดได้ลงนามในสัญญาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัททีโอทีซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อให้บริการ 4G LTE-TDD (Long Term Evolution-Time Division Duplex) (เทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายด้วยความเร็วสูง) บนคลื่นความถี่ (Spectrum) 2.3 GHz ขนาด 60 เมกะเฮิร์ทซ์ (Megahertz -- MHz) โดยบริษัทดีแทค ไตรเน็ต จะจ่ายเงินให้แก่บริษัททีโอทีจำนวน 4,510 ล้านบาทต่อปีเพื่อใช้งานในสัดส่วน 60% ของจำนวนความจุคลื่น
การทำสัญญากับบริษัททีโอทีช่วยลดความกังวลในเรื่องของจำนวนคลื่นความถี่ที่จำกัดเนื่องจากคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1.8 GHz ขนาด 35 MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานจะหมดอายุลงในเดือนกันยายน 2561 ที่จะถึงนี้ การลงนามในสัญญาเป็นพันธมิตรกับบริษัททีโอทีส่งผลทำให้สถานะในการถือครองคลื่นความถี่ของบริษัทเข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีปริมาณเพียงพอต่อการรองรับอุปสงค์การใช้งานด้านข้อมูลที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าได้
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับมีความตั้งใจที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz ก่อนที่สัญญาสัมปทานของบริษัทจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามแผนยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้าร่วมการประมูลเพื่อให้ได้คลื่นความถี่ที่เพียงพอสำหรับการให้บริการในอนาคต อย่างไรก็ดี การที่บริษัทมีคลื่นความถี่ 2.3 GHz เพื่อใช้งานเพิ่มเติมนั้นจะช่วยลดแรงกดดันให้แก่บริษัทในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ
ความท้าทายที่มีต่อสถานะทางธุรกิจ
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายในการรักษาสถานะทางธุรกิจจากการแข่งขันที่รุนแรงและความกังวลเรื่องข้อจำกัดด้านคลื่นความถี่ ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้บริการของบริษัทลดลงจาก 25.3 ล้านเลขหมายในปี 2558 เป็น 21.8 ล้านเลขหมาย ณ เดือนมีนาคม 2561 ในขณะที่รายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges -- IC) ของอุตสาหกรรมเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีในช่วงปี 2558-2560 แต่รายได้ดังกล่าวของบริษัทกลับลดลงเฉลี่ย 2% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนแบ่งทางการตลาดจากรายได้การให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งลดลงมาเป็นลำดับที่ 3 ในปี 2560 ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลงของบริษัท
รายได้ที่ลดลงของบริษัทมีสาเหตุหลักมาจากจำนวนผู้ใช้งานที่ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าระบบเติมเงิน รวมทั้งการลดลงของ รายได้จากการให้บริการด้านเสียง ซึ่งคาดว่าจำนวนลูกค้าระบบเติมเงินของบริษัทจะลดลงอีกจากการที่สัญญาสัมปทานในระบบ 2G กำลังจะสิ้นสุดลง บริษัทก็มุ่งเน้นไปที่ลูกค้าระบบจ่ายรายเดือนที่มีอัตรากำไรสูงกว่ากลุ่มลูกค้าระบบเติมเงินด้วย ทั้งนี้ ด้วยคลื่นความถี่ที่ได้มาเพิ่มเติมนั้น บริษัทมีกลยุทธ์ที่จะมุ่งพัฒนาบริการด้านข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ใช้งานเพื่อที่จะขยายฐานลูกค้าระบบจ่ายรายเดือน รวมทั้งเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย และพยุงรายได้ของบริษัท
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดต่างก็ดำเนินธุรกิจไปในทางเดียวกัน ดังนั้น การแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานใหม่หรือรักษาฐานลูกค้าเดิมจึงจะยังคงดำรงอยู่ในระดับสูงต่อไป ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทปรับเพิ่มสถานะทางการตลาดให้ดีขึ้นและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดโดยวัดจากรายได้จากการให้บริการหลังจากที่บริษัทมีคลื่นความถี่เพิ่มมากขึ้น
ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง
แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดด้านรายได้จากการให้บริการลดลง แต่ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง ทั้งนี้ ในปี 2560 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ประมาณ 64,800 ล้านบาท แต่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานกลับเพิ่มขึ้นมากโดยเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดค่าอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลงไป กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้น 18% จากประมาณ 23,500 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 28,600 ล้านบาทในปี 2560
ในไตรมาสแรกของปี 2561 รายได้ของบริษัทจากการให้บริการที่ไม่รวมค่า IC ลดลง 1.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 16,040 ล้านบาท ในขณะที่เงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 19% มาอยู่ที่ประมาณ 7,700 ล้านบาท (รวมรายการพิเศษจากการกลับรายการสำรองกรณีพิพาทกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ประมาณ 300 ล้านบาท) กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นผลมาจากต้นทุนส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) ที่ลดลงจากการลดค่าธรรมเนียม USO (Universal Service Obligation) และค่าธรรมเนียมการใช้ใบอนุญาตที่ปรับเป็นแบบขั้นบันไดตามสัดส่วนรายได้ให้บริการ ตลอดจนการลดลงอย่างต่อเนื่องของค่าอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด
ในอนาคตทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรง แม้ที่ผ่านมาบริษัทจะมีความพยายามในการควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่องจนมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นก็ตาม แต่บริษัทก็ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากการถดถอยของสถานะทางการตลาดและต้นทุนในการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการที่สูง
ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานของบริษัทอาจไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมองว่าบริษัทอาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดเชิงรุกมากขึ้นเพื่อปรับสถานะทางการตลาดของบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้น อานิสงส์จากการลดลงของต้นทุนส่วนแบ่งรายได้จะถูกชดเชยด้วยค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการเพิ่มความหนาแน่นของโครงข่าย ค่าธรรมเนียมรายปีที่จะต้องจ่ายให้แก่บริษัททีโอที รวมไปถึงค่าเช่าในการใช้โครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา ในช่วงปี 2561-2563 ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ในช่วงประมาณ 21,000-26,000 ล้านบาทต่อปี
ฐานะทางการเงินมีแนวโน้มอ่อนแอลง
ฐานะทางการเงินของบริษัทมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นตลอดจนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนจำนวนมากสำหรับการประมูลคลื่นความถี่และเพื่อใช้ในการลงทุนขยายโครงข่าย ภายใต้สัญญาที่มีกับบริษัททีโอทีบนคลื่น 2.3 GHz นั้น บริษัทจะต้องดำเนินการขยายโครงข่ายให้คลอบคลุม 80% ของประชากร ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2561-2563 ประมาณ 57,000-60,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ที่จะประมูลใหม่
ในช่วงปี 2561-2563 คาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ 30%-56% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 60% อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มจาก 0.6 เท่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 (ปรับให้เป็นตัวเลขเต็มปีโดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 12 เดือน) เป็น 2-2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับต้นทุนเงินลงทุนที่แท้จริงของคลื่นความถี่ใหม่ซึ่งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการทั้งจำนวนคลื่นความถี่ที่จะประมูล ระดับความรุนแรงในการแข่งขันประมูลราคา และแผนการบริหารคลื่นความถี่ของภาครัฐที่จะประกาศใช้
สภาพคล่องที่เพียงพอ
ในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีแหล่งสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะรองรับภาระผูกพันทางการเงินต่าง ๆ โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานปีละประมาณ 21,000-26,000 ล้านบาทและเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอีกจำนวน 29,500 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2561 ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะมาจากค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 17,000-20,000 ล้านบาทต่อปีและภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระอีก 11,400 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีการกันกระแสเงินสดส่วนเกินสำรองไว้ใช้สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 GHz ทริสเรทติ้งคาดว่าระดับความยืดหยุ่นทางการเงินที่ดีและการจ่ายเงินปันผลที่ลดลงของบริษัทจะช่วยผ่อนเบาภาระเงินลงทุนก้อนใหญ่ในการขยายโครงข่ายและเงินลงทุนในใบอนุญาตคลื่นความถี่ลงไปได้บางส่วน
การสนับสนุนจาก Telenor
อันดับเครดิตของบริษัทยังได้รับแรงหนุนจากการสนับสนุนของ Telenor ในด้านความช่วยเหลือในการบริหารจัดการและความรู้ด้านเทคโนโลยีด้วย ทั้งนี้ บริษัทถือว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจของ Telenor โดยบริษัทเป็นผู้สร้างรายได้ในระดับแนวหน้าในกลุ่มบริษัทที่ Telenor ลงทุนนอกประเทศนอร์เวย์ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดหวังว่า Telenor จะให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในยามที่ต้องการต่อไป
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่อ่อนแอลงและความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทน่าจะอ่อนแอลงเมื่อพิจารณาถึงการลงทุนจำนวนมากเพื่อให้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอและมีโครงข่ายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของบริษัทอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ/หรือบริษัทไม่สามารถปรับปรุงสถานะทางการตลาดของบริษัทได้แม้ว่าจะมีคลื่นความถี่ใช้งานเพิ่มเติมก็ตาม นอกจากนี้ แรงกดดันในการปรับลดอันดับเครดิตก็อาจเกิดขึ้นได้จากสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงโดยมีภาระหนี้อยู๋ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับดีขึ้นและมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นโดยที่ยังคงความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้ได้ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจเปลี่ยนแปลงในกรณีที่ระดับความช่วยเหลือที่บริษัทได้รับจาก Telenor มีการเปลี่ยนแปลงไป
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC)
อันดับเครดิตองค์กร:
AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต:
Negative
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit