นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Japan-Thailand EconomicPartnership Agreement: JTEPA) ครั้งที่ 5 และการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ JTEPA ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ณ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ โดยซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะเจรจาการค้าสินค้า และกรมศุลกากรเป็นหัวหน้าคณะเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
การประชุมครั้งนี้ ไทยยังคงขอขยายโควตาสินค้าผลิตภัณฑ์สุกรแปรรูป ซึ่งไทยมีศักยภาพส่งออกไปญี่ปุ่นและผลิตภัณฑ์สุกรของไทยเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารเร่งเนื้อแดง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับโอนพิกัดศุลกากร จากปี 2002 เป็นปี 2017 ทั้งในตารางการลดภาษี และกฎเฉพาะรายสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนอีกด้วย
จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ปัจจุบัน ครบรอบ 10 ปี ที่จะต้องมีการเจรจาทบทวนความตกลง JTEPA ร่วมกัน ซึ่งไทยยังคงผลักดันให้ญี่ปุ่นพิจารณาการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่เคยเปิดตลาด และหากการเจรจาเป็นไปตามเป้าหมายจะมีสินค้าเกษตรไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาดเพิ่มเติมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ไทยยังเสนอให้ปรับปรุงข้อบทการค้าสินค้า เพื่อให้สอดคล้องตามองค์การศุลกากรโลกและสถานการณ์ปัจจุบัน
สำหรับการค้าสินค้าเกษตร ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ถือว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรอันดับที่ 3 ของไทย โดยในระหว่างปี 2558 - 2560 มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 9.59 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก ซึ่งในปี 2558 ไทยและญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 1.58 แสนล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2559 และ 2560 เป็นมูลค่า 1.64 แสนล้านบาท และ 1.73 แสนล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.72 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยในปี 2558 - 2560 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่าเฉลี่ย 1.55 แสนล้านบาท และนำเข้าจากญี่ปุ่นเฉลี่ย 0.1 แสนล้านบาท ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ย 1.45 แสนล้านบาท สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เนื้อไก่ปรุงแต่ง ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง ยางแผ่นรมควัน และอาหารสุนัขหรือแมว ส่วนสินค้านำเข้า ได้แก่ เนื้อปลาแช่เย็นจนแข็งจำพวกปลาสคิปแจ็กหรือปลาโอท้องแถบ ปลาแอลบาคอร์หรือปลาทูนาครีบยาว ปลาแมคเคอเรล และปลาซาร์ดีน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า หากไทยสามารถผลักดันให้การเจรจาเป็นไปตามเป้าหมายได้ จะเป็นการขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit