ทั้งนี้การปรับรูปแบบงานวิจัยในปีแรก มหาวิทยาลัยตั้งกรอบงานวิจัยเพื่อสร้างความมั่นคงสู่อาชีพในภาคชนบท โดยพิจารณาโจทย์บนฐานทรัพยากรในชุมชนที่มีอยู่เป็นทุนเดิมเพื่อใช้งานวิจัยไปต่อยอด พร้อมๆ กับการดึงกลไกในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด โดยเลือกพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยมีทุนเดิมกับชุมชนอยู่แล้ว โดยเริ่มงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก่อนในปีแรก เริ่มจากเข้าไปหารือกับหน่วยงานระดับจังหวัดเพื่อหาโจทย์และพื้นที่ทำงานวิจัยร่วมกัน กระทั่งได้พื้นที่ ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน และ ต.สามเรือน อ.บางปะอิน ซึ่งเดิมจังหวัดมีแผนให้เป็นพื้นที่นำร่องโครงการจังหวัดบูรณาการ โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปทำงานข้อมูลพื้นฐาน วิจัยและพัฒนา ตามบทบาทหน้าที่ของของมหาวิทยาลัย ซึ่งในพื้นที่ ต.ทับน้ำ งานวิจัยทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มอาชีพในตำบล ให้ อบต.ได้ใช้ทำแผนพัฒนาตำบล และมีข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในตำบล เกษตรกรมีการรวมกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมันเทศคุณภาพและหาช่องทางตลาดใหม่ เกิดกลุ่มแปรรูปมันเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าและมีความสามารถในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ในพื้นที่ ต.สามเรือน มีเห็ดตับเต่าที่ขึ้นในดงโสนเป็นทรัพยากรชีวภาพสำคัญ งานวิจัยช่วยให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตร มีการนำศักยภาพชุมชนด้านภูมิปัญญา ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน ใช้เป็นทรัพยากรการท่องเที่ยว และบริหารจัดการโดยชุมชน เกิดกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มจัดการที่พักแรมโฮมสเตย์ กลุ่มแปรรูปเห็ดตับเต่า เกษตรกรสามารถยืดอายุการเก็บรักษาเห็ดสดเพื่อลดความเสี่ยงจากราคาต่ำในช่วงผลผลิตล้นตลาดและแปรรูปเห็ดตับเต่าจำหน่ายนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่า และมีการจัดแปลงผลิตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โมเดลการจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่ดำเนินการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังได้ขยายผลไปใช้ในจังหวัดสุพรรณบุรี และนนทบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์พื้นที่ หรือวิทยาเขตของ มทร.สุวรรณภูมิ
รองอธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวด้วยว่า นอกจากผลสัมฤทธิ์ด้านงานวิจัยที่เน้นงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่แล้ว ตลอดระยะเวลาการทำงานวิจัยกับหน่วย ABC ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการงานวิจัยของของมทร.สุวรรณภูมิอีกหลายมิติ ได้แก่ การพัฒนาข้อเสนอโครงการโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง, กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม,การใช้ระบบผู้ประสานงาน, การติดตามช่วยเหลือนักวิจัย, ระบบประเมินงานวิจัย, การนำความรู้และเครื่องมือวิจัยใหม่ๆ เข้าไปสู่ชั้นเรียน, การพัฒนานักวิชาการรับใช้สังคม และการสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลกับนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยนำไปใช้ประโยชน์ ให้รางวัลนักบริการวิชาการทีสร้างผลกระทบต่อชุมชนสังคม เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไปทำงานกับร่วมกับชุมชนมากขึ้น
"สิ่งที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างมากจากการทำงานร่วมกับ ABC คือ การได้เรียนรู้เครื่องมือและวิธีการจัดการงานวิจัยแบบใหม่ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัย เดิมนักวิจัยต่างคนต่างทำตามศาสตร์ที่ตัวเองถนัด คุยกันเองในกลุ่มของนักวิจัย ไม่ได้คำนึงว่า เมื่อวิจัยเสร็จแล้วงานจะเกิดประโยชน์อะไรกับใคร มาเป็นการทำงานวิจัยที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง นักวิจัยร่วมกันทำงานเป็นทีม มีอาจารย์นักวิจัยจากหลายสาขา ต่างคณะ ซึ่งเดิมไม่รู้จักกันก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน นอกจากนี้นักวิจัยยังต้องทำงานร่วมกับภาคีในพื้นที่ เช่น ชาวบ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด มีการพัฒนาระบบผู้ประสานงานวิจัยในพื้นที่ เพื่อให้นักวิจัยต่างสาขาได้ทำงานตามเป้าหมายที่ร่วมกันตั้งไว้ มีกระบวนการติดตามช่วยเหลือและประเมินคุณภาพงานวิจัยจากผู้ทรงคณวุฒิ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมาก แต่เดิมไม่มี นักวิจัยเมื่อได้รับทุนทำวิจัย สิ้นปีส่งเล่มรายงานถือว่าทำงานเสร็จ พอมีระบบติดตามช่วยเหลือนักวิจัย โดยให้นักวิจัยมารายผลการวิจัยทุกๆ 3 - 6 เดือน และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วย ABC มาช่วยให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนางาน
ผลคือนักวิจัยของเราได้เรียนรู้เต็มๆ ทั้งทักษะทางวิชาการและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นประโยชน์มากทำให้นักวิจัยเกิดมุมมองใหม่ๆ ที่กว้างขึ้น รอบด้านขึ้น"
ในขณะเดียวกันสถาบันวิจัยและพัฒนา ของมทร.สุวรรณภูมิ เองก็มีการปรับเปลี่ยนกลไกการบริหารที่แตกต่างไปจากเดิม คือ เดิมทีสถาบันวิจัยและพัฒนาทำงานโดยนำนโยบายจากมหาวิทยาลัยมากำหนดเป็นแผนวิจัย จากนั้นให้อาจารย์แต่ละคณะส่งโครงการวิจัยมาให้สถาบันวิจัยและพัฒนารวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์เพื่อเสนอให้ วช.แล้วประกาศทุน แต่เมื่อทำงานร่วมกับ หน่วย ABC จึงมีการจัดตั้งหน่วยที่เรียกว่า "หน่วยวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม" ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันฯ มีกรรมการกำกับ ดูแล กระบวนการจัดการงานวิจัยตั้งแต่เริ่มพัฒนาโจทย์ การพัฒนานักวิจัยเชิงพื้นที่ตลอดห่วงโซ่งานวิจัย นอกจากนี้สถาบันวิจัยและพัฒนายังได้ออกแบบระบบการประเมินผล โดย ให้มีการประเมินผลการทำงานวิจัยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง ว่าได้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และสุดท้ายงานวิจัยมีแนวโน้มถูกนำไปใช้และนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือไม่ ปัจจุบันมีรอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาและทีมเป็นผู้ประเมิน ทำให้เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพทางวิชาการย้อนหลังไป 3 ปี พบว่างานวิจัยของ มทร.ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้นและเป็นการนำไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่ระหว่างทำวิจัย เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่วิจัยชัดเจน นักวิจัยสามารถนำผลงานบางส่วนไปเขียนและตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการได้มากขึ้น
"สิ่งที่ชี้ชัดว่า มทร.สุวรรณภูมิให้ความสำคัญกับงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ คือ มหาวิทยาลัยได้นำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยใส่ในกองทุนส่งเสริมงานวิจัย และจัดสรรเงินจากกองทุนปีละ 2-3 ล้านบาท ตั้งเป็นงบสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะ และนำหลักพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมเป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างแท้จริง แม้ในระยะแรกที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ ทั้งอาจารย์นักวิจัยของเราต้องใช้เวลา แรงกาย และแรงใจอย่างมาก เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อปรับแล้วผลงานที่ได้ทำให้ทุกคนมีความสุขที่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ เป็นงานที่ใช้ได้จริงไม่ขึ้นหิ้ง รูปธรรมที่เห็นได้ชัดอีกอัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ นักศึกษาและชุมชนมีความใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเรารับใช้สังคมชุมชนได้อย่างแท้จริง นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดกับมหาวิทยาลัย และมีแนวโน้มมากขึ้น มีการเชิญนักวิจัย ให้เข้าเป็นที่ปรึกษา หรือร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาด้านต่างๆ หลายคณะ ทั้งระดับพื้นที่ปฏิบัติการและระดับจังหวัดอีกด้วย" .