ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวานนี้ปรับลดลงจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นประกอบกับผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนแท่นผลิตน้ำมันจากสัปดาห์ก่อน 5 แท่นมาอยู่ที่ 825 แท่น สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี และมีข่าว PEMEX บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกประกาศเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยปี61 ให้เพิ่มสู่ระดับ 1.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ปริมาณการผลิตเดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 1.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน) จากโครงการผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งในเขตน้ำตื้น รวมทั้งเพิ่มเงินลงทุนและเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งบนชายฝั่งเกือบ 200 แห่ง อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Mike Pompeo ซึ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 61 เร่งเยือนซาอุดิอาระเบียและอิสราเอลเพื่อประกาศจุดยืนว่าตนจะไม่ยอมให้อิหร่านซึ่งมีพฤติกรรมสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและต้องการครองความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง มีอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและพันธมิตรของสหรัฐฯ ให้ติดตามมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 61 ที่จะประกาศในวันที่ 3 พ.ค. นี้ที่อาจจุดประเด็นด้านภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-69.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.0-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของอินโดนีเซีย และศรีลังกา ประกอบกับ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.2% มาอยู่ที่ 20.4 ล้านบาร์เรล จากการใช้จักรยานยนต์เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นในเวเนซุเอลาได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินลดลง อาทิ โรงกลั่น Paraguana Refining Center (กำลังการกลั่น 955,000 บาร์เรลต่อวัน) เดินเครื่องอยู่ในระดับต่ำเพียง 230,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 24% ของกำลังการกลั่น และโรงกลั่น Amuay (กำลังการกลั่น 185,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ที่ 18.6% ของกำลังการกลั่น ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 403,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.20 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม EIAรายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 20 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,00 บาร์เรล มาอยู่ที่ 236.8 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ เฉลี่ยไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 207,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 742,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้บริษัทน้ำมันแห่งชาติ PetroChina ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันเบนซินจากโรงกลั่นน้ำมัน Dalian Petrochemical (กำลังการกลั่น 144,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 31% มาอยู่ที่ 2.68 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.5-86.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ Ceypetco ประเทศศรีลังกา ขณะที่ บริษัท Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน มี.ค.61 ลดลงจากปีก่อน 24.6% อยู่ที่ 405,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศแข็งแกร่ง ประกอบกับโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุง ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.24 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 8.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 20 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics:NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% มาอยู่ที่ 117 ล้านบาร์เรล และปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 128% มาอยู่ที่ 592,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 60 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-88.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล