ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการ OPOAI ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทางสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่เยี่ยมสถานประกอบการ ภาคเหนือ 2 แห่ง ประกอบด้วย
1. เข้าเยี่ยม บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ไลโคปีน จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 379/1 หมู่ที่ 13 ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ประเภทอุตสาหกรรมอาหาร การหีบสกัดน้ำมันจากพืชหรือเมล็ดพืช
2. เข้าเยี่ยม บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 300 หมู่ที่ 1 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประเภทอุตสาหกรรมอาหาร ต้มหน่อไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร บรรจุปี๊บ กระป๋อง และถุงพลาสติก
นายพรเทพ การศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการโอ-ปอย ได้จัดทีมที่ปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการผ่านแผนงาน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. แผนงานการบริการจัดการโลจิสติกส์ 2. แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. แผนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน 4. แผนการลดต้นทุนพลังงาน 5. การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล 6. แผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด และ 7. แผนการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งการทำงานของทีมที่ปรึกษาจะเข้าไปศึกษาข้อมูลของสถานประกอบการจากคณะผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อดูว่าสมควรที่เข้าพัฒนาในแผนงานไหนมากที่สุด เมื่อได้ข้อสรุปทางทีมที่ปรึกษาจะมีแผนการดำเนินงานให้ปฏิบัติจริง และติดตามผลพร้อมทั้งคำปรึกษาเป็นระยะๆ รวมระยะเวลาในการปฏิบัติงานโดยประมาณ 4-6 เดือน จึงจะเสร็จสิ้นโครงการ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2560 ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการในระยะเวลา 1 ปี สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สถานประกอบการโดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 459 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการพัฒนา 40 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 11.48 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 171 ราย เฉลี่ยได้แล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยรายละ 2.45 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2560 สามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยสามารถวัดมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวเงินได้กว่า 4,914 ล้านบาทจากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับ 394.60 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 12.45 เท่าของวงเงินงบประมาณมีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 1,505 ราย เฉลี่ยได้แล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ย 3.27 ล้านบาท
นายพรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2561 มีสถานประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ราย 120 แผนงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการให้คำปรึกษากับสถานประกอบการ โดยในวันนี้ได้มีการเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินของสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง คือ บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ไลโคปีน จำกัด และบริษัท มหาบูรพาผลิตภัณธ์อาหาร จำกัด ทั้ง 2 รายเป็นสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปี 2560 และเป็นโรงงานที่มีผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ Best Practice ทั้ง 2 โรงงาน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดง ให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถ นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายวิชัย ใจวิสุทธิ์หรรษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเมกา 3.6.9 แอนด์ ไลโคปีน จำกัด กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจประเภทอุสาหกรรมอาหารเสริม ผลิตน้ำมัน โอเมกา 3.6.9 จากถั่วดาวอินคา สำหรับบริษัทเริ่มต้นธุรกิจในปี 2555 ด้วยทุน จดทะเบียน 5 ล้านบาท จำหน่ายผลิตภัณฑ์เอง ร้อยละ 90 และรับจ้างผลิต ร้อยละ 10 มียอดขาย 10 ล้านบาทต่อปี (เมื่อปี 2560) โดยมีตลาดในประเทศ 97% ต่างประเทศ 3% โดยใช้วัตถุดิบจากพื้นที่ในจังหวัดกำแพงเพชร และพื้นที่ใกลคียง ด้วยความที่เป็นคนพื้นเพจังหวัดกำแพงเพชร จึงมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกถั่วอินคา จึงได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการผลิตอาหารแปรรูปประเภทอาหารเสริม เมื่อศึกษามีความรู้แล้วจึงได้จัดตั้งบริษัทเพื่อผลิตอาหารเสริม ORGANOID ตั้งแต่นั้นมา เข้าร่วมโครงการโอ-ปอยในปี 2560 จำนวน 2 แผนงาน ประกอบด้วย
แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทฯ พบว่าพนักงานคัดแยกเมล็ดถั่ว ดาวอินคา มีปัญหาเรื่องความสูงของโต๊ะคัดแยก ซึ่งได้แก้ไขโดยให้มีการเปลี่ยนมาใช้เก้าอี้ที่สามารถปรับระดับความสูงได้ และมีการนำเครื่องเขย่าร่อนเมล็ดถั่วดาวอินคา เพื่อลดเวลาในการคัดแยกเมล็ด นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องจักรที่ใช้ในการบีบอัดน้ำมัน เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ จึงได้ทำการเปลี่ยนมาใช้ไฮโครลิคขนาดเล็กแทน เพื่อลดปัญหาเครื่องจักรหยุด โดนในแผนงานที่ 2 นี้ บริษัทฯ สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการได้ 94,080 บาท/ปี
แผนงานที่ 6 กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด (Best Practice) จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า บริษัทฯ ยังไม่มีการจัดทำแผนการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม และยังไม่มีแผนการพัฒนาทีมขาย ยังไม่มีการจัดทำแผนการตลาดภายในประเทศ และยังไม่มีการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้กับลูกค้าเป้าหมาย จากปัญหาดังกล่าว ได้มีการแผนปฏิบัติการทางการตลาด จำนวน 4 แผนงาน เช่น การเปิดโชว์รูมที่เอเชียทีค มีการจัดทำคลิปสั้น 3 คลิปเพื่อสร้างการรับรู้ มีการเปิดตลาดกับลูกค้ากลุ่มคลินิคเสริมความงาม ทำให้สามารถได้ลูกค้า OEM ใหม่ 1 ราย มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 รายการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการติดต่อลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้ไปโชว์ผลิตภัณฑ์ในที่ต่างๆ 4 แห่ง ซึ่งจากกิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมา ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเพิ่มยอดขายได้ 100% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
จากการดำเนินโครงการทั้ง 2 แผนงาน สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้คิดเป็นมูลค่า 5,094,080 บาท/ปี
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า บริษัท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2530 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยโรงงานตั้งอยู่ศูนย์กลางของพื้นที่เพาะปลูก ที่มีความหลากหลายของวัตถุดิบผักและผลไม้ต่างๆ ทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการเพาะปลูกในพื้นที่ของเราเอง และทำสัญญการเพาะปลูกกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเป็นการจัดหาวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานได้อย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้พัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความเป็นผู้นำในการเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้กระป๋อง โดยการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้า โดยบริษัทฯ ได้รับมาตรฐาน BRC, เกรดเอ GMP และ HACCP บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตผักผลไม้กระป๋องที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ซื้อทั่วโลก มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการใน 2 แผนงาน ประกอบด้วย
แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์ (Best Practice) ได้มีการปรับปรุงน้ำหนักในการบรรจุกระป๋อง โดยปรับน้ำหนักให้ได้ตามมาตรฐานทั่วไป 1825-1875 g/กระป๋อง มีการปรับลดสัดส่วนการถือครองสารปรุงแต่ง น้ำตาลและเกลือ โดยปรับการสั่งซื้อและจัดเก็บให้เหมาะสมกับความต้องการ และเรื่องสุดท้ายมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดวางและขนย้ายกระป๋อง เพื่อลดการบุบของกระป๋อง ซึ่งจากการดำเนินงานทั้งหมด คิดเป็นความสูญเสียที่ลดลงและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 3,864,684 บาทต่อปี
ในแผนงานที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้มีการปรับลดการสูญเสียข้าวโพดหวาน จากการตัดหัวข้าวโพด พบว่าการตัดหัวข้าวโพดหวานเป็นขั้นตอนแรกในการควบคุมเรื่อง Yield ของวัตถุดิบซึ่งมีผลต่อต้นทุนของสินค้า การตัดหัวที่มากเกินไปคือการสูญเสียเมล็ดข้าวโพด นอกจากนี้ ยังมีการลดการสูญเสียข้าวโพดหวาน จากการตัดเมล็ด ซึ่งปัญหาเกิดจากระบบการทำงานของเครื่องจักร ประกอบด้วย บู๊ตจานมีดหลวม สปริงออโตขาด/หย่อน ลูกยาง Roll Feed สึก ใบมีดแกว่ง และใบมีดไม่คม ได้ทำการปรับปรุงการทำงานของเครื่องจักร ตั้งค่ามาตรฐานต่างๆ และมีการลับใบมีดอยู่เสมอ จากการดำเนินงานสามารถความสูญเสียที่ลดลงและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 5,026,560 บาทต่อปี จากการดำเนินโครงการทั้ง 2 แผนงานสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้คิดเป็นมูลค่า 8,891,244 บาท/ปีนายวิศิษฐ์ กล่าวว่า "OPOAI 60 มิติของความสำเร็จ นอกจากที่จะวัดจากมูลค่าที่ได้จากการทำแผนงานแล้ว การสร้างทีมงานและกระบวนการคิดวิเคราะห์เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำไปสร้างแผนงานอื่นๆ เพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานประกอบการ ด้วยตัวเองในโอกาสต่อไป"