นายสิทธิโชค ปัญญางาม หนุ่มวัย 37 ปี แห่งบ้านดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับคัดเลือกเป็น "ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2561" ในประเภทงานหัตถกรรม "ดุนโลหะ" จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เป็นผู้สืบสานองค์ความรู้ภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ ครูอาจารย์ในช่างฝีมือระดับบรมครูผู้อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรม มีความรู้ความสามารถ มีทักษะฝีมือเชิงช่าง มีความมุ่งมั่นและใฝ่เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สืบสานงานศิลปหัตถกรรม ถ่ายทอดเรื่องราว ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบสานดำเนินรอยตามบรรพบุรุษ นำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาปรับประยุกต์สร้างสรรค์ผลงานที่มีความละเอียด งดงาม ผสมผสานด้วยแนวคิดการพัฒนาสู่ความร่วมสมัย และสมัยนิยม สามารถปรับปรุงพัฒนาต่อไปได้ เสริมสร้างคุณค่าผลงานศิลปหัตถกรรมให้ดำรงอยู่ในวิถีปัจจุบันสืบต่อไป
"สิทธิโชค" ถือเป็นศิษย์เอกที่ได้รับการถ่ายทอด และเรียนรู้การทำงานหัตถกรรม ดุนโลหะจากครูดิเรก สิทธิการ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 วัยกว่า 60 ปี ผู้มีทักษะการดุนลายที่เลื่องชื่อแห่งวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ซื่อสัตย์ในการทำงาน และมีศรัทธาในงานที่ทำเพื่อสืบทอดงานดุนโลหะให้อยู่คู่ในแผ่นดินล้านนาต่อไป นับเวลาที่ได้เรียนรู้ฝึกฝนงานสลักดุนมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว
"นับเป็นรางวัลแรกของชีวิตที่ถือว่ามีคุณค่าสูงอย่างมาก พอได้รับรางวัลนี้แล้ว ทำให้มีกำลังใจ มีไฟ มีพลังในการต่อสู้ทำงาน สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ในประเภทการดุนโลหะให้คงสืบเนื่องอยู่ต่อไปจากพ่อครู แรงผลักดันที่สำคัญในขณะนี้และตั้งใจอย่างแรงกล้าที่ทำให้เกิดผลสำเร็จและเป็นสิ่งที่ภูมิใจในอนาคตอย่างมาก คือ การจัดทำดุนโลหะเป็นยอดฉัตรจำนวน 120 ยอด เพื่อขึ้นยกประดับบนยอดโลหะปราสาท พระธาตุศรีเมืองปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งที่ 4 ของโลก ขณะที่ 2 องค์แรกอยู่ที่ศรีลังกาแต่ได้ถูกทำลายหมดสิ้นไปแล้ว ส่วนที่มีอยู่แห่งที่ 3 และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย คือ โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดารามวิหาร ซึ่งจะเป็นแห่งที่ 4 ที่เชียงใหม่แห่งนี้ " นายช่างสิทธิโชคกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
"สิทธิโชค" เล่าอีกว่า เริ่มต้นเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตงานช่างฝีมือหัตถกรรมดุนโลหะครั้งแรกตอนที่บวชเณร อายุประมาณ 20 ปี จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเกิดความรู้สึกทึ่งและชื่นชอบความสวยงามฝีมืองานศิลป์ฝีมือพ่อครูดิเรกอย่างมาก ประกอบกับใกล้เคียงรอบวัดเป็นชุมชนหัตถกรรมการทำเครื่องเงินที่ที่ทำสืบทอดกันมายาวนานนับเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เมื่อสึกออกมาแล้วจึงมาขอมาเป็นลูกศิษย์พ่อครูดิเรก เรียนรู้แบบซึมซับและทำงานกับท่านนับตั้งแต่นั้นมา
สำหรับทักษะฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานดุนโลหะของทายาทช่างศิลปหัตถกรรม "สิทธิโชค" ใช้เทคนิคการตอกลายแบบนูนสูง มีความชำนาญการตอกลายที่แม่นยำลายเส้นคมชัดสะบัดปลาย มีความพลิ้วไหวในลวดลายอย่างวิจิตร มีการผสมผสานลวดลายระหว่างลายไทยและลายล้านนาที่ให้อารมณ์ที่อ่อนช้อยมีเสน่ห์ เอกลักษณ์ผลงานดุนลายของนายสิทธิโชค อยู่ที่การทำให้ลวดลายมีความเหมือนภาพวาดได้อย่างวิจิตรงดงาม จนได้รับการยอมรับว่า ฝีมือไม่แพ้ฝีมือครูผู้ถ่ายทอดเลยทีเดียว
ในอนาคตที่ตั้งใจไว้ คือ เฟ้นหาผู้สืบทอด ส่งเสริมสั่งสอนสร้างลูกศิษย์ใหม่ๆ ขึ้นมาต่อเนื่อง ถึงที่สุดแล้วความเป็นเอกลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่าและมากด้วยฝีมือศิลป์ จะมีการเฟ้นหาผู้สืบทอดด้วยตัวของมันเอง เพราะจะมีผู้ที่ต้องการรักชื่นชอบในงานศิลป์ชิ้นเอกเหล่านี้ ดั้นด้นดิ้นรนเข้ามาเรียนรู้และต้องการเป็นศิษย์ เหมือนแบบอย่างที่ผมเป็นที่พ่อครูสอนผมมา การวิ่งไปหาทายาทมาสืบทอดงานจะอยู่ได้เพียงชั่วครู่ ทำงานหัตถศิลป์นี้ไม่ได้นาน วิชาเหล่านี้ไม่ใช่เรียนกันในมหาวิทยาลัย ต้องเรียนโดยภูมิปัญญาโดยตรง จึงอยากจะถ่ายทอดให้กับผู้ที่มุ่งมั่นเดินเข้ามาเรียนรู้กับเราอย่างตั้งใจจะดีกว่า
"อดีตงานช่างหัตถศิลป์ฝีมือมิใช่จะได้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดกันง่ายๆ เพราะบรรพบุรุษจะส่งถ่ายความรู้ให้เฉพาะคนในสายเลือดลูกหลานในวงศ์ญาติตระกูลของตนเองเท่านั้น จึงทำให้คุณค่าของวิชาดีในสมัยโบราณสูญสิ้นไปพร้อมกับการสูญเสียบรรพบุรุษที่ตายจากไป ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะไม่รักในวิชาโบราณดั้งเดิมเนื่องจากวิถีชีวิตปัจเจกชนแต่ละคนแตกต่างจากอดีตและมักเลือกหาวิชาชีพใหม่แบบอื่นที่ตนเองชื่นชอบมากกว่าที่จะคิดหรือมองเห็นสิ่งที่มีค่าอยู่ของบรรพบุรุษนั้นให้รักษาคงไว้"
HTML::image( HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit