โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 7 บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ ซึมซับบทเรียนชีวิตล้ำค่า “ความรักจักรวาล: รัก-เรียน-เพียร-ให้”

14 May 2018
แม้ว่าเส้นทางธรรมของเหล่าสามเณร 12 รูป ที่ร่วมโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 7 ภายใต้แนวคิด "ความรักจักรวาล : รัก-เรียน-เพียร-ให้" จัดโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ปิดฉากลงอย่างงดงามในพิธีลาสิกขาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ณ วัดป่าไทรงาม อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี แต่เชื่อมั่นได้ว่าหลักธรรมคำสอนและหลักปฏิบัติต่างๆ ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์ที่เหล่าสามเณร ได้เรียนรู้และซึมซับผ่านการ อบรมและดูแลเป็นอย่างดียิ่งของพระอาจารย์ใหญ่ประจำโครงการ พระพระครูนิโครธธรรมาภรณ์ (หลวงตาเอนก ยสทินฺโน) เจ้าอาวาส ยังคงหยั่งลึกอยู่ในจิตใจ และเป็นแสงสว่างนำทางให้บัณฑิตน้อยได้ประพฤติตนในทางที่ถูกต้องดีงามต่อไปอย่างแน่นอน
โครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 7 บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งธรรมะ ซึมซับบทเรียนชีวิตล้ำค่า “ความรักจักรวาล: รัก-เรียน-เพียร-ให้”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "ตลอดระยะเวลา 1 เดือน เชื่อว่าสามเณรทุกรูป ได้มีโอกาสเรียนรู้พระธรรม และได้รับความเมตตาจากหลวงตาเอนก พระพี่เลี้ยง ตลอดจนพระอาจารย์ทุกรูปที่ได้ให้ความรู้แก่สามเณร ตามแนวทางหลัก 4 ข้อ เริ่มจาก 1. "รัก" – การบวชของสามเณรทุกรูป มาจากความรักและความปรารถนาดีของบิดามารดา บุพการีที่ต้องการให้สามเณรได้เรียนรู้ปฏิบัติธรรม อันเป็นความรู้สูงสุดของชีวิต ขณะเดียวกัน สามเณรเอง ก็มีความกตัญญู สร้างบุญให้แก่พ่อแม่ ซึ่งรักแรกของเราทุกคน เริ่มด้วยคำว่า "กตัญญู" จึงเป็นสัปดาห์ของความรักอันเป็นพื้นฐาน"

ต่อด้วยสัปดาห์ที่ 2 "เรียน" - เริ่มต้นจากการตั้งคำถามเสมอเพื่อหาเหตุผล ถ้าสามารถเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม หาเหตุหาผลในทางสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงจากพื้นฐานของความรักแล้ว ก็ย่อมสามารถเดินอยู่บนพื้นฐานหลักธรรมขั้นต่อไปได้เป็นอย่างดี จึงเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 "เพียร" - ส่วนของฆราวาส หมายถึงการไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แต่ความเพียรในทางธรรม หมายถึงความเพียรที่มีปัญญา หาทางออกได้โดยการชนะตนเองหรือกิเลสในใจ และสุดท้าย "ให้" - ให้ความรู้ ให้ธรรม ซึ่งหลวงตาอเนก ได้กล่าวว่า การเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นการให้ที่ดีที่สุด เพราะพูดหลายครั้งก็ไม่เท่ากับการแสดง การกระทำ ดังนั้น สามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 7 ทุกรูป จึงเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเติบโตขึ้นไป ได้มีความรัก เรียนรู้ มีความเพียร และรู้จักให้ อันเป็นตัวอย่างที่ดีอย่างต่อเนื่อง"

น้องเร็น ด.ช.วิชชวุฒฬ์ นาควัชระชัยท์ อายุ 7 ขวบ เซียนที่ตัวเล็กที่สุดในโครงการ จากจังหวัดปทุมธานี แสดงธรรมก่อนลาสิกขาว่า "การบวชครั้งนี้ ต้องใช้ความเพียรมาก คือการพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ เช่น การห่มจีวรซึ่งยากมาก มีครั้งหนึ่งรู้สึกท้อ แต่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ ก็สามารถทำได้ และคิดเสมอว่าถ้าเราท้อ ก็จะไม่สำเร็จ ในที่สุดก็สามารถห่มจีวรเองได้ นอกจากนี้ การเดินจงกรม บางวันเดินเป็นชั่วโมง ต้องอาศัยความเพียร ต้องอดทนจึงสำเร็จ การบวชสามเณรนั้น เป็นการอดทนเพื่อชนะใจตนเอง อดทนเพื่อธรรมะ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เกิดเป็นคนจงพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

น้องปัญปัน ด.ช.เมธาสิทธิ์ พันเพ็ชร อายุ 9 ปี จากจังหวัดยโสธร กล่าวว่า "ตลอด 1 เดือนที่ได้บวชเป็นสามเณร ปลูกปัญญาธรรมนั้น ได้เรียนรู้ ฝึกฝนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินธุดงค์ บิณฑบาต ได้ฝึกฝนตนเองให้มีความอดทน ตั้งใจฝึกสมาธิ และที่สำคัญ ได้ขจัดความกลัวของตนเอง มีความกล้ามากยิ่งขึ้น เพราะกิจกรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการบวชมีเยอะมาก จะนำหลักคำสอน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระอาจารย์ ไปถ่ายทอดแก่คนรอบข้าง โดยเฉพาะการทำประโยชน์เพื่อสังคม"

ปิดท้ายด้วย น้องนิว ด.ช.เศรษฐทรัพย์ ไชยมั่น อายุ 10 ปี จากจ.อุบลราชธานี หนุ่มน้อยที่มาบวชเพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่บิดาที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อศึกษาธรรมะ กล่าวว่า "รู้สึกดีใจและเศร้าใจที่ต้องลาสิกขาในครั้งนี้ ที่ดีใจคือเราสามารถบวชครบ 1 เดือนและได้ทำบุญให้แก่คุณพ่อ แต่ที่เสียใจคือต้องจากลาพระอาจารย์ และเพื่อนๆ ซึ่งการบวชได้ให้ประโยชน์ หลักคำสอนมากมาย โดยเฉพาะการไม่ยึดติด ทำความดี อดทน พากเพียร การให้ รวมถึงทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น"

ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถติดตามภาพความประทับใจของโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ปี 7 และรับชมรายการย้อนหลังทางออนไลน์ได้ที่ www.trueplookpanya.com/truelittlemonk และ www.youtube.com/Truelittlemonk โดยสามารถติดตาม ข่าวสารของโครงการสามเณร ปลูกปัญญาธรรม ได้ทาง www.facebook.com/truelittlemonkthailand และยิ่งไปกว่านั้น เตรียมพบกับความพิเศษของสามเณร ปลูกปัญญาธรรม นานาชาติ ที่จะขยายโครงการสู่ระดับสากลในปีแรก เร็วๆ นี้ ทาง www.truelittlemonk.com และ www.facebook.com/truelittlemonk