สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 7-11 พ.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 14-18 พ.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

14 May 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 89.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • วันที่ 9 พ.ค. 61 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศว่าสหรัฐฯ ขอถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action หรือ JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับมหาอำนาจ 6 ชาติ (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย และเยอรมัน) พร้อมประกาศคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ซึ่งอิหร่านจะถูกจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบ 'ขั้นสูงสุด"เนื่องจาก JCPOA ไม่สามารถป้องกันให้อิหร่านหยุดพัฒนาโครงการระเบิดนิวเคลียร์ได้
  • หน่วยงานศุลกากรจีน (General Administration of Customs) รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7% มาอยู่ที่ 9.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอินเดีย นาย Dharmendra Pradhan แถลงร่วมกับบริษัทน้ำมันแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ Abu Dhabi National Oil Co. (ADNOC) ว่า ADNOC ได้จัดส่งน้ำมันดิบทางเรือปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล มายังคลังปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves) ที่เมือง Mangalore เป็นเที่ยวแรก จากปริมาณรวม 6 ล้านบาร์เรล เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 61 ทั้งนี้อินเดียได้ปฏิรูปนโยบาย เปิดธุรกิจภาคพลังงานรับการลงทุน และมอง UAE เป็นพันธมิตรสำคัญ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านปิโตรเลียม

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 11 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 แท่น อยู่ที่ 844 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกัน 6 สัปดาห์
  • InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 8 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลด Net Long Position ลงจากสัปดาห์ก่อน 22,009 สัญญา อยู่ที่ 569,448 สัญญา ต่ำสุดตั้งแต่ 20 มี.ค. 61
  • Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 8 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลด Net Long Position ลงจากสัปดาห์ก่อน 8,831 สัญญา อยู่ที่ 435,230 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ลดลงโดยนักลงทุนมองว่าผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่าน อาจมีความรุนแรงในวงจำกัด เนื่องจากเป็นการดำเนินการเพียงประเทศเดียว ขณะที่ประเทศอื่นๆ ซึ่งร่วมลงนามในข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน (JCPOA) ไม่แสดงท่าทีจะถอนตัว แม้แต่อังกฤษ และชาติยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ โดยนายกรัฐมนตรี นาง Theresa May แถลงย้ำว่ายังคงสนับสนุน JCPOA และได้ตกลงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trumpว่าจะต้องเปิดการเจรจาหารือกัน ในเรื่องผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ ที่กำลังประกอบธุรกิจในอิหร่าน อยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับ ผู้ผลิตรายอื่น อาทิกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะซาอุฯ สามารถเพิ่มผลผลิตทดแทน ขณะที่ สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันดิบในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นประมาณ 27 % จากกลางปี พ.ศ. 2559 มาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และแซงซาอุดิอาระเบียขึ้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก อีกทั้งจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นติดต่อกัน6 สัปดาห์ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ คืบคลานเข้าใกล้รัสเซียผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก ซึ่งผลิตที่ระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งกระแสข่าว CNPC บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนพร้อมจะเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของโครงการ South Pars ในอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากบริษัท Total ของฝรั่งเศสต้องถอนตัว ซ้ำเติมความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อนึ่ง Goldman Sachs คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มพุ่งขึ้นไปเหนือ 82.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงฤดูร้อนนี้ (มิ.ย. – ส.ค. 61) เพราะมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ จะทำให้อิหร่านผลิตน้ำมันดิบลดลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-79.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 69.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 71.0-76.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 245,000บาร์เรล และ 95 RON ปริมาณ 77,000 บาร์เรล ส่งมอบ 28-29 มิ.ย. 61 บริษัท Engen ของแอฟริกาใต้ออกประมูลซื้อ น้ำมันเบนซิน 95 RON ปริมาณ 45 ,000 บาร์เรล ส่งมอบ 12-15 พ.ค. 61 และ ปริมาณ 130,000 บาร์เรล ส่งมอบ 12-17 พ.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 235.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตามทางการจีนอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันเบนซิน รอบที่ 2/61 ปริมาณรวม 45.6 ล้านบาร์เรล และ บริษัท Idemitsu Kosan ของญี่ปุ่นมีแผนกลับมาเปิดดำเนินการหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker(RFCC-50,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Aichi (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังปิดซ่อมแซมหน่วย Hydrogen Gas Compressor มาตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.31 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83.0-88.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลสำหรับผลิตไฟฟ้าในตะวันออกกลางและเอเชียเพิ่มขึ้น โดยบริษัทHindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) ของอินเดียออกประมูลซื้อ น้ำมันดีเซล (High-Speed Diesel: HSD) ปริมาณ 446,000 บาร์เรล ส่งมอบปลายเดือน พ.ค. 61 ปริมาณใกล้เคียงกับที่ออกประมูลซื้อส่งมอบเดือน เม.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.36 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี และ EIA รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 115.0 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของเรือประมงในจีนเบาบาง เนื่องจากการห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ที่ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก ช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 61 และทางการจีนรายงานอนุมัติโควตาส่งออกน้ำมันดีเซล รอบที่ 2/61 ปริมาณรวม 62.9 ล้านบาร์เรล และ Bloomberg รายงานกลุ่มโรงกลั่นอิสระที่ตั้งอยู่ในมณฑล Shandong ของจีน (กำลังการกลั่นรวม 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) มีอัตราการกลั่นในเดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 1.0% มาอยู่ที่ 61.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากอยู่ในช่วงโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 87.0-92.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล