สถาบันประสาทวิทยา เฉลยข้อข้องใจ....อยู่อย่างไรกับโรคพาร์กินสัน

14 May 2018
เนื่องในวันโรคพาร์กินสันโลก สถาบันประสาทวิทยาซึ่งมีพันธกิจในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้จึงได้จัดกิจกรรม "สั่น สั่น สั่น กับพาร์กินสัน" เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้ป่วย ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ด้วยการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน เคล็ดลับดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วย พร้อมไขข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันให้แก่ผู้ป่วยที่มี ข้อสงสัยอย่างใกล้ชิด โดยภายในงานได้มีกลุ่มผู้ป่วย บุคคลทั่วไป สนใจเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 130 คน
สถาบันประสาทวิทยา เฉลยข้อข้องใจ....อยู่อย่างไรกับโรคพาร์กินสัน

นพ. อัครวุฒิ วิริยเวชกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมระบบประสาท สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคพาร์กินสันนับว่าเป็นอีกหนึ่งโรคที่โลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมองและระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ โดยสถิติผู้ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันทั่วโลกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในกลุ่มผู้ที่อายุเกิน 65 ปี และมักพบในผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง

โรคพาร์กินสัน คือโรคทางสมองที่เกิดจากเซลล์ประสาทในบางตำแหน่งเกิดมีการตายโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้สารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อว่า โดปามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่มีหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายมีปริมาณลดลง จนส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย ซึ่งสามารถจำแนกอาการของโรคพาร์กินสันได้ทั้งหมด 5 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 - ผู้ป่วยมีอาการสั่นน้อย มีอาการสั่นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น และยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
  • ระดับที่ 2 - ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้าง พร้อมมีลำตัวที่คดงอลงเล็กน้อย
  • ระดับที่ 3 - ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้าง รวมไปถึงระบบการทรงตัวเริ่มไม่แข็งแรงจนอาจจำเป็นต้องมีผู้คอยดูแลและพยุงในบางครั้ง
  • ระดับที่ 4 - ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้างหนักมากจนเริ่มไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ระดับที่ 5 - ผู้ป่วยมีอาการสั่นทั้งสองข้างในขั้นรุนแรง และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนต้องกลายเป็น ผู้ป่วยติดเตียง แม้โรคพาร์กินสันจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยมากที่สุดในด้านการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องมีคนคอยดูแลในบางราย เนื่องจากกล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีการอ่อนแรงและสั่นเกร็ง จากที่เคยสามารถทำงานได้ ก็เริ่มเป็นทำได้ช้าลงและทำไม่ได้ในที่สุด แต่ก็ยังคงมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ อาการท้องผูกเป็นประจำ อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อเกร็ง โดยเฉพาะเวลานอนจนทำให้นอนไม่หลับ หรืออาการท้อแท้เบื่อหน่ายในชีวิตจนอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา ซึ่งผู้ดูแลควรต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อจะสามารถติดตามความผิดปกติ และรีบแจ้งแพทย์เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ด้าน พญ. ณัฎลดา ลิโมทัย อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ปัจจุบันโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ใช้วิธีการรักษาจะเป็นแบบควบคุมประคับประคองอาการด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับประทานยาให้ตรงเวลาในทุก 4-5 ชั่วโมง และในช่วงที่ท้องว่างเท่านั้นเพื่อให้ยาเกิดประสิทธิภาพได้เต็มที่ ทั้งยังช่วยป้องกันการดื้อยาในผู้ป่วยอีกด้วย เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการป่วยติดต่อมาเป็นระยะเวลานานๆ จะเริ่มมีการตอบสนองต่อยาที่ไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้อาการที่รุนแรงขึ้นหรือลดลงในบางครั้ง จนอาจกลายเป็นสาเหตุให้เกิดสภาวะโรคแทรกซ้อนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดฝังตัวกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) และการรักษาทางกายภาพบำบัด ด้วยวิธีการการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยวิธีการรักษานั้นๆ แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำตามความเหมาะสมของอาการของผู้ป่วยแต่ละรายอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการที่ผู้ป่วยมีความสุขในชีวิตและกำลังใจที่ดีก็นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้อาการของผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นและสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ต่อไป

โดยข้อควรปฏิบัติของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่มีอาการป่วยมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุขและมีกำลังใจในการรักษาตนเอง ในทุกๆวัน มีดังนี้

  • สร้างความกระตือรือร้นตลอดเวลา คือ การทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยชื่นชอบทำแล้วมีความสุข และปฏิบัติกิจกรรมนั้นให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ยังคงต้องระวังเรื่องความสมดุล การทรงตัวของผู้ป่วยด้วย และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • เริ่มสร้างกำลังใจให้ตนเอง คือ ผู้ป่วยต้องมีความเชื่อมั่น เชื่อใจ ในตัวผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ครอบครัว และเพื่อน ว่าทุกคนล้วนเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันและเป็นกำลังใจสำคัญที่พร้อมจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินหน้าสู้กับโรคพาร์กินสันต่อไปได้
  • รู้จักเรียนรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันอย่างถ่องแท้ ยิ่งผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคพาร์กินสันมากขึ้นเท่าใดก็จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าใจและรู้จักที่จะรับมือกับโรคได้มากขึ้น พร้อมที่จะปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และเข้าพบแพทย์ตามเวลานัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดีที่สุด
  • การผ่อนคลายจิตใจและออกกำลังอย่างเป็นประจำ นอกจากการรับประทานอาหารที่หลากหลายและประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสภาวะความตึงเครียด และออกกำลังกายด้วยท่าทางที่ง่ายๆ และเหมาะสมต่อตัวผู้ป่วยเอง อาทิ โยคะ รำไทเก็ก เต้นลีลาศ พร้อมมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับผู้ที่มีความกังวลหรือสงสัยว่าตนเองมีอาการของโรคพาร์กินสันหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่แผนกผู้ป่วยนอก ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.00 น. – 12.00 น. และ ที่คลินิกโรคพาร์กินสัน ในทุกวันอังคาร ของสัปดาห์แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 13.00 น. – 15.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 02-306-9899 ติดต่อแผนกผู้ป่วยนอก สถาบันประสาทวิทยา

HTML::image( HTML::image( HTML::image(