นายอดิศร พร้อมเทพ
อธิบดีกรมประมง กล่าวเตือน
เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดูจาก
ฤดูร้อนเข้าสู่
ฤดูฝนจึงทำให้อากาศแปรปรวนมีแดดร้อนจัดสลับกับมี
ฝนตกหนัก และในช่วงวันที่ 9 – 12 พ.ค. 2561 บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนจึง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งสภาวะดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาที่เลี้ยงโดยตรงคือ จะทำให้ปลาเครียด อ่อนแอและยอมรับเชื้อโรคได้ง่ายโดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำ ลำน้ำ อ่างเก็บน้ำและคลองส่งน้ำต่างๆโรคปลาที่ควรเฝ้าระวังในช่วงนี้ ได้แก่
- โรคที่เกิดจากปรสิต เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา โดยปลาที่มีปรสิตจะมีลักษณะอาการเช่น ว่ายน้ำผิดปกติ หายใจถี่ มีจุดแดงตามผิวลำตัว เพื่อเป็นการป้องกันโรคและกระตุ้นให้ปลาแข็งแรง คือ เสริมอาหารประเภทสารผสมล่วงหน้า เช่น วิตะมินซี โปรไบโอติก เป็นต้น นอกจากนี้ควรทำความสะอาดกระชังเพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหารออกให้หมด เป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิต การกำจัดปรสิตในปลาที่เลี้ยงในบ่อ ทำได้โดยการใช้ด่างทับทิม 1-2 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน หรือไตรคลอร์ฟอน 0.25 กรัมต่อน้ำ 1 ตัน แต่หากเป็นปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชัง ให้ใช้ผ้าใบหุ้มกระชังก่อนสาดสารเคมี นอกจากนี้ยังสามารถแช่ขวดหรือถุงด่างทับทิม หรือถุงเกลือ ไว้ในกระชังเป็นจุดๆ เพื่อช่วยลดปริมาณปรสิตที่อยู่ในกระชังและลดความเครียดให้ปลา
- โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตคอสคัส แอโรโมแนส ฟลาโวแบคทีเรียม ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวนี้ เป็นแบคทีเรียนักฉวยโอกาสที่สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป กล่าวคือ มันจะเข้าไปทำอันตรายปลาเมื่อปลาอ่อนแอและแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านทางกระแสเลือด โดยปลาจะมีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร มีแผลเลือดออกตามลำตัวและอวัยวะต่างๆ มีตุ่มฝีที่บริเวณใต้คางและผิวลำตัว ตาขุ่น ฉะนั้น ควรรีบนำปลามาตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อตรวจสอบชนิดแบคทีเรียและประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพที่จะใช้ให้เหมาะกับชนิดของแบคทีเรีย ก่อนนำยาดังกล่าวผสมอาหารให้กินตามคำแนะนำในฉลากยา
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรจะป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคปลา เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยควรคัดเลือกพันธุ์ปลาที่มีความแข็งแรง จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้ เลือกใช้
อาหารที่มีคุณภาพที่ดีและให้อาหารปลาในปริมาณที่เหมาะสม และควรหมั่นตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอเมื่อพบเห็นสิ่งปกติให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขทันที ในขณะเดียวกันก็แจ้งให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังรายอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงทราบด้วย เพื่อที่จะหามาตรการป้องกัน การแพร่กระจายโรค กรณีที่มีปลาป่วยตาย ควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา ไม่ควรทิ้งปลาป่วยไว้ในบริเวณบ่อหรือกระชังที่เลี้ยง เพราะจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ หากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคสัตว์น้ำสามารถติดต่อขอคำแนะนำ ในเรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์น้ำได้จากสำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด/ชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการประมงน้ำจืด ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง หรือกองวิจัยและพัฒนาสุขภาพสัตว์น้ำ โทรศัพท์หมายเลข 02 – 561 – 4211 หรือศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา โทรศัพท์หมายเลข 074-33 5244-8 อธิบดีกรมประมงกล่าว