โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่ เพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก โดยมีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60 และยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังได้กำหนดนโยบายในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ให้ได้ 5,000,000 ไร่ ภายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และเกษตรอินทรีย์ก็เป็นกิจกรรมในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษยโสธร และอำนาจเจริญ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาคือ การเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ พืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ และประมง ด้วยอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายในการพัฒนาคือ จำนวนพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และสินค้าเกษตรอินทรีย์อื่น ๆ ที่ได้มาตรฐานเป้าหมายรวม 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2564 จำนวน 1,000,000 ไร่ โดยได้กำหนดจุดยืนการพัฒนา (Positioning) คือศูนย์กลางของนวัตกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์ (Hup of innovation for Specialized and Organic Agriculture : HI-SO Agriculture)
"การจัดงานมหกรรมเกษตรอินทรีย์และของดี 4 จังหวัดอีสานล่าง 2 ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 16 พฤษภาคม 2561 ณ บริเวณลานอุบลสแควร์ จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญในการส่งเสริมให้การปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์สถาบันเกษตรกร สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนเป็นการสร้างกระบวนการในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในลักษณะประชารัฐ ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้ จะช่วยให้สินค้าเกษตรที่ปลูก ขายได้ราคาดีขึ้นจากเดิม 2 -3 เท่า และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าผู้รักสุขภาพอีกด้วย" นายกฤษฎา กล่าว
นอกจากนี้ยังได้ถือโอกาสเยี่ยมชมแปลงต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ และโรงแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน บริษัทในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล รวมทั้งพบปะเกษตรกรต้นแบบมันอินทรีย์ 100 คน จาก 4 อำเภอ ได้แก่ อ.นาเยีย อ.สว่างวีรวงศ์ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.วารินชำราบ ทั้งนี้ จากการสรุปข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีผลผลิตเฉลี่ย 4.5 ตันต่อไร่ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 8,000 บาทต่อไร่ เป็น 15,000 บาทต่อไร่ ซึ่งนับว่ามีรายได้และผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit