ฟิทช์: การชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ และการลงทุนปรับปรุงโครงข่าย มีความสำคัญต่อ DTAC

10 May 2018
ฟิทช์กล่าวว่า สถานะทางการตลาดของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB/AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) จะแข็งแกร่งขึ้น หากบริษัทสามารถชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งจะมีการจัดการประมูลเร็วๆ นี้ เนื่องจากความเสียเปรียบของคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เป็นข้อจำกัดทางธุรกิจของบริษัท

ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 3 ชุด สำหรับกิจการโทรคมนาคม และกำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นวันที่ 4 สิงหาคม 2561 โดย กสทช. ได้ตั้งราคาเริ่มต้นประมูลที่ 3.75 หมื่นล้านบาท ต่อหนึ่งชุดของคลื่นความถี่

ฟิทช์คาดว่า DTAC น่าจะชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 1 ชุด เนื่องจาก บริษัทมีความจำเป็นในการจัดหาคลื่นความถี่ในระยะเวลาอันสั้น ทำให้บริษัทน่ามีความต้องการคลื่นความถี่ที่ออกประมูลในครั้งนี้ มากกว่าผู้ที่น่าจะเข้าร่วมการประมูลรายอื่น ซึ่งได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ BBB+/AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งในมุมมองของฟิทช์ น่าจะมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินงานในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายในการประมูลคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูง และค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพิ่มให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT สำหรับการใช้งานคลื่นความถี่ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ น่าจะกดดันกระแสเงินสดและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

DTAC มีความจำเป็นในการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อทดแทนคลื่นความถี่ภายใต้สัญญาสัมปทานจำนวน 35 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะหมดอายุลงในเดือน กันยายน 2561 ฟิทช์คาดว่า DTAC ยังมีความต้องการคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์ ถึงแม้ว่า บริษัทจะได้ลงนามสัญญาในการให้บริการสื่อสารไร้สายบนคลื่นความถี่ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ แล้วก็ตาม เนื่องจาก DTAC ยังคงต้องใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G และ 4G อยู่

ฟิทช์เชื่อว่าหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ DTAC สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่คู่แข่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มาจากการที่ DTAC มีความเสียเปรียบด้านการครอบครองคลื่นความถี่ ดังนั้นจำนวนคลื่นความถี่และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยให้คุณภาพของเครือข่ายดีขึ้น และทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดและรายได้จากการให้บริการลดลงในอัตราที่ช้าลง

ฟิทช์คาดว่า กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ DTAC จะปรับตัวลดลงประมาณ 4%-7% มาอยู่ที่ 2.7-2.8 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 จาก 2.91 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายภายใต้สัญญาคลื่นความถี่ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ให้ TOT นอกจากนี้เงินที่ต้องใช้ในการจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติมที่น่าจะอยู่ในระดับสูง จะทำให้หนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำ ดังนั้นฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-adjusted net leverage) จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า (ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 อยู่ที่ 1.3 เท่า) ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน

DTAC ได้ประกาศเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 ว่าบริษัทได้ลงนามในสัญญากับ TOT ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2,300 เมกะเฮิรตซ์ โดย DTAC ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้กับ TOT จำนวน 4.5 พันล้านบาทต่อปี สำหรับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว