การเพิ่มช่องทางรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ หน่วยงานรัฐประจำจังหวัด และสถานทูตไทยในต่างประเทศ

07 May 2018
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นมา กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานเมืองพัทยา ได้ดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ (โครงการฯ) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 โดยมุ่งหวังที่จะนำเงินบริจาคในส่วนนี้ไปรวมกับเงินบำรุงกองทุนที่ได้มาจากภาษีสรรพสามิตในส่วนของสุรายาสูบ (ร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี) แล้วนำมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 3.6 ล้านคนทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต้องมาแสดงเจตจำนงที่หน่วยงานซึ่งบุคคลนั้นได้ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพไว้ ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สำนักงานเมืองพัทยา และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมให้แก่ผู้ที่ต้องการบริจาค กระทรวงการคลังจึงได้พิจารณาการเพิ่มช่องทางรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตรงตามเป้าหมายของรัฐบาล และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยช่องทางการรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่กระทรวงการคลังพิจารณาเพิ่มเติม มีรายละเอียด ดังนี้

1. ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งบริจาคใน กทม. สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งบริจาคได้ที่สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

2. ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งบริจาคในต่างจังหวัดสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งบริจาคได้ที่หน่วยงานของคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ด่านศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภาคและจังหวัด และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่งดังกล่าวข้างต้น

3. ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งบริจาคในต่างประเทศสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือ Passport ไปแจ้งบริจาคได้ที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ

ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนให้นำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานของ คบจ. และสถาบันการเงินของรัฐใน กทม. จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ส่วนในต่างประเทศซึ่งดำเนินการโดยสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ของไทยในต่างประเทศ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป

นางสาวกุลยาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้พิจารณาเพิ่มช่องทางการรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพฯ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุที่มีจิตศรัทธาทุกท่าน จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอแล้ว เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศให้มีรายได้ในการดำรงชีพเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น