ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67 -72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72 -77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

07 May 2018
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะปรับเพิ่ม หลังสหรัฐฯ เล็งคว่ำบาตรอิหร่าน

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2561

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 พ.ค. 61 )

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ที่อาจทำให้อุปทานน้ำมันโลกตึงตัวขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ประกอบกับ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่า หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

จับตาการพิจารณาในข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยสหรัฐฯ ในวันที่ 12 พ.ค. 61 นี้ หลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน และนำไปสู่การคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้มากที่สหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่าน เนื่องจากอิหร่านมีท่าทีที่แข็งกร้าว หลังนาย Ali Akbar Velayati ที่ปรึกษาอาวุโสของผู้นำอิหร่านเผยว่าอิหร่านจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากข้อตกลงนิวเคลียร์เดิม ประกอบกับ อิสราเอลได้เปิดเผยเอกสารที่พิสูจน์ว่าอิหร่านกำลังดำเนินโครงการลับเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านซึ่งมีปริมาณราว 300,000 – 500,000 บาร์เรลต่อวัน

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดลงกำลังการผลิต โดยล่าสุด สำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงานปริมาณน้ำมันคงคลังของกลุ่มประเภทพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ในเดือนก.พ. 61 ปรับลดลงราว 26 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 2.84 พันล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี เพียง 30 ล้านบาร์เรล และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำมันคงคลังจะปรับลดลงแตะระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี ภายในพ.ค. 61 นี้

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้น 9 แท่น สู่ระดับ 834 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มีค. 58

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว โดยเฉพาะอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับ อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยับเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากนักลงทุนอาจมีการปรับลดการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบ หลังราคาน้ำมันดิบที่ซื้อในสกุลเงินสหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิตจีนและดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ปริมาณการส่งออกจีน และปริมาณการนำเข้าจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 เม.ย. – 4 พ.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น เข้าใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 10.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นราว 6.2 ล้านบาร์เรล