นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าในปัจจุบันพ่อครัวแม่ครัวไทย ยังคงเป็นที่ต้องการของร้านอาหารไทย โรงแรม สถานประกอบกิจการท่องเที่ยวและบริการในต่างประเทศ จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่าในปี 2560 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ตำแหน่งคนครัว จำนวน 3,224 คน ส่วนในปี 2561 (1 มกราคม-30 เมษายน 2561) จำนวน 1,101 คน มีรายได้เฉลียประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ประเทศที่พ่อครัวแม่ครัวไทยนิยมเดินทางไปทำงาน ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เพื่อเป็นการพัฒนาทักษะฝีมือ เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) ตามนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ของกระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบนโยบายให้ กพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการฝึกอบรมผู้ประกอบอาหารไทยรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก ดำเนินการแล้ว 3,318 คน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7,740 คน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ มีฝึกอบรมกว่า 60 หลักสูตร เช่น การประกอบอาหารไทยยอดนิยมในต่างประเทศ การประกอบอาหารเชิงธุรกิจ การบริการอาหารและเครื่องดื่มสู่ความเป็นเลิศ ศิลปะ การตกแต่งอาหาร การแปรรูปอาหารทะเล รวมถึงเมนูอาหารไทยดั้งเดิม แกงมัสมั่น แกงจืดฟักไก่ หมู ลอดช่องข้าวเหนียวมูล ข้าวคลุกกะปิสมัยรัชการที่ 5 เป็นต้น การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีทักษะสร้างความโดดเด่น เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งในด้านรสชาติ ความพิถีพิถัน ความประณีต คุณค่าของสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ สร้างมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติมากขึ้น เพิ่มช่องทางในการมีงานทำในต่างประเทศ พร้อมทั้ง กพร. ยังมีการจัดคอร์สฝึกอบรมภาษาต่างประเทศทั้งอังกฤษ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หรือสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทาง www.dsd.go.th หัวข้อ It's Your Choice
"สำหรับคนที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศในตำแหน่งคนครัว นอกจากจะเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว อยากเชิญชวนให้เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทาง กพร. ด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันในการรับเข้าทำงาน เช่น ญี่ปุ่นต้องมีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไป หรือผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 สิงคโปร์ต้องขอใบอนุญาตประเภท S-pass ซึ่งเป็นใบอนุญาตทำงานสำหรับคนต่างชาติ ที่มีทักษะฝีมือในระดับกลาง เป็นต้น และหากเดินทางกลับมาทำงานในประเทศก็ยังได้รับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ระดับ 1 ได้รับค่าจ้าง วันละ 400 บาท ระดับ 2 ได้รับค่าจ้าง วันละ 510 บาท นอกจากนี้ กพร. ยังมีการทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ในต่างประเทศ สำหรับผู้สนใจเข้ารับการฝึกอบรมและทดสอบฯ สามารถสอบถาม และดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อ กำหนดการฝึกอบรม หรือ โทร 1506 กด 4" อธิบดี กพร. กล่าว
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit