สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 30 เม.ย.-4 พ.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 7-11 พ.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

07 May 2018
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 86.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 4 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9 แท่น และเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 131 แท่น อยู่ที่ 834 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 และสูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58

Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 33,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 436.0 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 60 รายงานประจำเดือน พ.ค. 61 ของ EIA แสดงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 260,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ 10.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน คงที่จากเดือนก่อนซึ่งเป็นปริมาณการผลิตสูงสุดในรอบ 11 เดือน

National Iranian Oil Company (NIOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่นานาชาติผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ตั้งแต่ ม.ค. 2559

Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 1 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 11,825 สัญญา มาอยู่ที่ 444,060 สัญญา

ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 1 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลด Net Long Position ลงจากสัปดาห์ก่อน 21,928 สัญญา มาอยู่ที่ 591,457 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

Reuters Survey รายงานระดับความร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC หรือ Compliance Rate เดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ระดับ 162% (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1 %) โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 32.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นาย Mohammad Javad Zarif รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านประกาศ 'รับไม่ได้' กับการที่นาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกให้ชาติพันธมิตรยุโรปแก้ไขช่องโหว่ในข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านก่อนวันที่ 12 พ.ค. 61 ซึ่งเป็นเส้นตายที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องลงนามรับรองว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวเพื่อผ่อนผันการคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป มิฉะนั้น นาย Trump จะไม่ลงนาม ขณะที่ นาย Ali Akbar Velayati ที่ปรึกษาอาวุโสของ Ayatollah Ali Khamenei ผู้นำสูงสุดของอิหร่านแถลงว่าหากมีการแก้ไขข้อตกลงจริง อิหร่านอาจล้มข้อตกลง

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 1.50-1.75% ตามเดิม อย่างไรก็ตาม Fed ยังคงส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย. 61 ตามอัตราเงินเฟ้อที่เข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ 2.0% ต่อปี

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้นจากความวิตกว่าอุปทานน้ำมันอาจตึงตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจในเวเนซุเอลา อีกทั้งสหรัฐฯ อาจถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ (JCPOA) ระหว่างอิหร่าน กับมหาอำนาจ 6 ชาติ และกลับมาคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี แสดงท่าทีจะยังอยู่ใน JCPOA และเตรียมมาตรการรักษาการค้ากับอิหร่าน ที่เพิ่มขึ้นสูงหลังสหภาพยุโรป (EU) ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต่ออิหร่าน ทั้งนี้ยอดส่งออกจากอิหร่านไป EU ในปี พ.ศ. 2560 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าพลังงาน เพิ่มขึ้น 344 % จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 5,500 ล้านยูโร (6,580 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ขณะที่ EU ลงทุนในอิหร่านเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับกว่า 20,000 ล้านยูโร หนึ่งในมาตรการแก้ไข คือ EU อาจกลับมาใช้บทบัญญัติพิเศษ ซึ่งพัฒนาขึ้นในทศวรรษที่ 1990 ระหว่าง EU กับสหรัฐฯ ที่ปกป้องบริษัทยุโรปซึ่งทำธุรกรรมกับอิหร่านจากการลงโทษของสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรอีก แต่การให้วงเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออกกับบริษัทอิหร่าน (แม้ไม่ใช่ดอลลาร์) และวงเงินสนับสนุนให้บริษัทเข้าลงทุนในอิหร่าน ยังต้องให้สหรัฐฯ เห็นชอบด้วย การฟื้นฟูบทบัญญัติพิเศษอาจแสดงให้อิหร่านเห็นว่า EU ยังเคารพในข้อตกลง แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทยุโรปหลายราย ยังวิตกว่าการลงทุนในอิหร่านจะเสี่ยงต่อผลประโยชน์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งนี้ EU หวังว่าช่องทางการค้าที่ยังเปิดอยู่ จะช่วยระงับไม่ให้อิหร่านถอนตัวจาก JCPOA และกลับมาฟื้นฟูโครงการนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตามการเจรจาด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ โดยมีรายงานข่าวว่าสหรัฐฯ เรียกร้องให้จีนลดการได้เปรียบดุลการค้าจากสหรัฐฯ ลง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2563 จากที่ได้ดุลการค้าในปี พ.ศ. 2560 ในระดับ 375,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร OCBC เห็นว่าเป้าหมายข้างต้น ไม่น่าปฏิบัติได้จริง และอาจเป็นเทคนิคในการเจรจา ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.0-72.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68.5-73.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากบริษัท CPC ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ 260,000 บาร์เรล ส่งมอบ 6-22 มิ.ย. 61 และ Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่ของเวียดนาม Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ระหว่างเดินเครื่องทดสอบโดยโรงกลั่นมีแผนดำเนินการณ์เชิงพาณิชย์ภายในเดือน ส.ค. 61 สามารถผลิตน้ำมันเบนซิน 92 RON โดยเริ่มเสนอขายน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 32,000 บาร์เรล อย่างไรก็ตาม มีแรงซื้อจากบริษัท Pertamina ของอินโดนิเชีย และ บริษัท Ceypetco ของศรีลังกา ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.51 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-86.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของจีน ในไตรมาส 1/61 ลดลงจากปีก่อน 0.4 % อยู่ที่ 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน มี.ค. 61 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 572,000 บาร์เรลต่อวัน สูงกว่าสถิติก่อนหน้าเมื่อ พ.ย. 60 ที่ 504,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับบริษัท CPC ของไต้หวันออกประมูลขาย Gasoil 0.5% S ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 16-31 พ.ค. 61 อย่างไรก็ตามมีแรงซื้อจาก บริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดีย และ บริษัท Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกา ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 280,000 บาร์เรล อยู่ที่ 8.05 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.0-89.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล